การเตรียมตัวก่อนคลอดและของเตรียมคลอดที่คุณแม่ควรจัด มีอะไรบ้าง

พัฒนาการทารกในครรภ์ของคุณแม่

ช่วงเวลาก่อนคลอด เป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญของคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน เพื่อให้การคลอดบุตรเป็นไปอย่างราบรื่น คุณแม่ควรทราบถึงขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนคลอดที่ควรทราบ รวมถึงการจัดของเตรียมคลอดให้ครบครันใส่กระเป๋า เพื่อพร้อมต้อนรับเจ้าตัวน้อยออกมาสู่โลกด้วยความอุ่นใจ 

ตลอดช่วงเวลาของการตั้งครรภ์นั้น การเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงวิธีการปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์มีส่วนช่วยให้สุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์มีพัฒนาการไปในทางที่ดี การเตรียมตัวก่อนคลอดก็เช่นกัน นอกจากการตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดบุตรที่เหมาะสมกับสภาวะครรภ์ของคุณแม่แล้ว ยังมีเรื่องจำเป็นอื่น ๆ ที่คุณแม่ และครอบครัวควรทราบอีก ได้แก่

คุณแม่ท้องเล่นโทรศัพท์

สัญญาณเตือนของระยะคลอดบุตร 

เมื่ออายุครรภ์ของคุณแม่เข้าสู่ช่วงกำหนดคลอดแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสังเกตอาการต่าง ๆ ของร่างกายตัวเองอยู่เสมอ หากพบว่าเกิดอาการเจ็บปวด รู้สึกหน่วงที่บริเวณหลัง ปวดร้าวลงไปยังต้นขา หรือรู้สึกว่าปวดคล้ายเวลาประเดือนมามาก ๆ รู้สึกว่ามดลูกหดตัวแรงและถี่ประมาณทุก ๆ 5 นาที และปวดเป็นเวลานาน ให้รีบเดินทางไปยังโรงพยาบาลทันที เพราะนั่นคืออาการเจ็บครรภ์จริง นอกจากนี้ หากเกิดอาการสำคัญอย่าง มีน้ำปริมาณมากไหลออกมาจากช่องคลอด นั่นคืออาการที่เรียกว่า ถุงน้ำคร่ำแตก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ โดยคุณแม่ไม่รู้สึกเจ็บปวดที่ท้อง ก็ควรรีบเดินทางไปโรงพยาบาลทันทีเช่นกัน

เมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว คุณหมอ และพยาบาลจะทำการสอบถามอาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ และตรวจร่างกายของคุณแม่โดยละเอียด มีการประเมินสภาพของทารกในครรภ์ และมีการตรวจประเมินความก้าวหน้าของการคลอดเป็นระยะ ดูการเปิดของปากมดลูก ดูการเคลื่อนตัวลงต่ำของศีรษะเด็กทารก เพื่อการคลอดที่ปลอดภัย 

ของเตรียมคลอด อะไรที่ห้ามลืมใส่กระเป๋าบ้าง?

คุณแม่ท้อง เก็บของเตรียมไปคลอด

ข้าวของเครื่องใช้ที่ต้องเตรียมไปโรงพยาบาลเมื่อถึงเวลาคลอดบุตร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ของเตรียมคลอด” นั้น เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับว่าที่คุณแม่สามารถเตรียมตัวให้พร้อมไว้ล่วงหน้าได้ 

หลายคนอาจสงสัยว่า ควรเริ่มจัดกระเป๋าเตรียมคลอดตั้งแต่เมื่อไร คำตอบก็คือสามารถเตรียมได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยอาจเริ่มจัดตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์เลยก็ได้ เพราะการเตรียมตัวให้พร้อมไว้ก่อน ย่อมดีกว่ามาวิตกกังวลตอนใกล้ถึงเวลาคลอดจริงแน่นอน โดยลิสต์ของสำคัญที่ห้ามลืมพกไปโรงพยาบาลมีดังนี้

ของใช้สำหรับทารก

  • เสื้อผ้าทารก หรือเสื้อผ้าเด็กอ่อน นั้น คุณแม่ควรเลือกเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าใส่สบาย ไม่ระคายผิวอันบอบบางของทารก ง่ายต่อการสวมใส่ และไม่มีจุดที่เป็นเหลี่ยมแหลมคมที่เป็นอันตราย ควรซักให้สะอาดก่อนจัดใส่กระเป๋าด้วยน้ำยาซักผ้าสำหรับเด็กทารกโดยเฉพาะ และเตรียมปริมาณของเสื้อให้เพียงพอสำหรับช่วงเวลาที่ต้องอยู่ที่โรงพยาบาล
  • ผ้าอ้อม สามารถใช้ได้ทั้งชนิดผ้า และผ้าอ้อมสำเร็จรูป หากเป็นชนิดผ้า ควรเลือกผ้าที่อ่อนนุ่ม มีสัมผัสที่อ่อนโยนต่อผิว หากเลือกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ควรเลือกชนิดเทป เพื่อสะดวกต่อการสวมใส่
  • ทิชชู่เปียก ใช้สำหรับทำความสะอาดให้ทารก ควรเลือกชนิดที่ปราศจากแอลกอฮอล์ และสารที่ระคายเคืองต่อผิว
  • ผลิตภัณฑ์อาบน้ำสำหรับเด็กทารก ได้แก่ แชมพู และสบู่เหลวสำหรับทารก ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำสำหรับผู้ใหญ่ เพราะอาจระคายเคืองผิวอันบอบบางของลูกได้
  • สมุดบันทึกเด็กทารก เป็นสมุดสำหรับการจดบันทึกความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการของลูก

ของใช้สำหรับคุณแม่ และคุณพ่อ

  • เอกสารสำคัญ ได้แก่ บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารฝากครรภ์ บันทึกการตั้งครรภ์ เอกสารประกันสุขภาพ ที่สำคัญ ควรเตรียมชื่อของลูกให้พร้อม เพื่อใช้ในการแจ้งเกิด และเตรียมเบอร์ฉุกเฉินให้กับทางโรงพยาบาลด้วย
  • ของใช้ส่วนตัว ได้แก่ สบู่ แชมพู ยาสีฟัน แปรงสีฟัน โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิว และเครื่องสำอาง เป็นต้น รวมถึง เสื้อผ้า กางเกงชั้นใน และผ้าอนามัยสำหรับคุณแม่หลังคลอด ควรเตรียมมาให้พร้อม และเพียงพอต่อช่วงเวลาที่ต้องอยู่โรงพยาบาล
  • บราให้นม และแผ่นซับน้ำนม เพื่อป้องกันคราบน้ำนมที่อาจไหลซึมเปื้อนเสื้อ และเพื่อความสะดวกในการให้นมลูกได้อย่างอิสระ
  • คาร์ซีท สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ขับรถมา ขอแนะนำให้เตรียมคาร์ซีทไว้ให้พร้อม เพื่อความปลอดภัยของลูกในการเดินทางกลับจากโรงพยาบาล

เนื่องจากโรงพยาบาลแต่ละแห่งนั้น มีการจัดเตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับคุณแม่ที่จะเข้ามาทำการคลอดบุตรไม่เหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่ควรสอบถามกับทางโรงพยาบาลล่วงหน้า เพื่อความสะดวกในการวางแผนเตรียมตัวคลอดได้อย่างเหมาะสม 

นอกจากนี้ ควรศึกษาเรื่องสิทธิ์ต่าง ๆ ในการลาคลอดให้ครบถ้วน เพื่อเตรียมตัวลางานกับที่ทำงาน และพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจครรภ์ และตรวจสภาพร่างกายของทั้งคุณแม่ และลูกในครรภ์ เพื่อความปลอดภัยในการคลอด รวมถึงป้องกันอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์

Ref. 1, 2