การกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ ถือเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยในระหว่างการตั้งครรภ์นั้น การพูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกับลูกรักในครรภ์จะช่วยเสริมพัฒนาการให้กับลูกได้ดี ทั้งยังช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย
เริ่มกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ได้เมื่อไร?
ทารกในครรภ์สามารถรับรู้ถึงเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้ตั้งแต่ช่วงที่อายุครรภ์กำลังเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 หรือเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 18 (เดือนที่ 4 – 6) การที่คุณพ่อคุณแม่พยายามพูดคุยกับลูกรักในครรภ์อยู่เสมอ จะช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับเสียงมากขึ้น เมื่อเด็ก ๆ คลอดออกมาแล้วจะทำให้พวกเขาคุ้นชินกับเสียงของคุณพ่อคุณแม่ และสร้างความสบายใจกับเด็ก ๆ ได้ไวขึ้น
การกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์
แม้การกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูกรักตั้งแต่อยู่ในครรภ์ด้วยวิธีต่าง ๆ จะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่ก็มีข้อสังเกตว่ามีทารกจำนวนไม่น้อยเลยที่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แล้วมีระดับสติปัญญาดี เลี้ยงง่าย อารมณ์ดี โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้
- การคุยกับลูกในครรภ์
การพูดคุยหรือส่งเสียงเพื่อเล่านิทานของคุณพ่อคุณแม่นั้น จะช่วยทำให้ระบบประสาทและสมองของลูกรักที่ทำหน้าที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอดได้
การพูดคุยหรือเล่านิทานด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน นุ่มนวล และใช้รูปประโยคเดิมซ้ำ ๆ ก็จะช่วยสร้างความคุ้นชินให้กับลูกรักได้ดีเช่นเดียวกัน โดยสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง คือ การพูดถึงเรื่องเศร้า ๆ เรื่องน่ากลัว คำพูดไม่ดี หรือแม้กระทั่งเรื่องเครียดที่อาจทำให้คุณแม่ทุกข์ใจ เพราะเด็ก ๆ สามารถรับรู้ถึงความเครียดของคุณแม่ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว
ในระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่ทำการพูดคุย หรือเล่านิทานให้กับลูกรักฟัง หากทำการลูบท้องระหว่างการทำกิจกรรมไปด้วย โดยการลูบท้องเป็นวงกลมโดยเริ่มจากบริเวณใดก่อนก็ได้ จะช่วยทำให้ลูกรับรู้ถึงความรักผ่านการสัมผัส และยังช่วยกระตุ้นประสาทและสมองได้ดีอีกด้วย
- ให้ลูกฟังเพลง
เสียงเพลงก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ๆ ได้ดี โดยระบบประสาทในการรับฟังของลูกจะเริ่มทำงานได้ช่วงเดือนที่ 4 – 6 การใช้เสียงจะช่วยกระตุ้นทำให้การทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องเปิดเพลงคลาสสิกให้ลูกรักฟังเพียงเท่านั้น สามารถเลือกเพลงตามความชอบของคุณพ่อคุณแม่ได้เลย
แต่แนะนำให้เปิดเพลงด้วยระดับความดังที่พอดี และเหมาะสม ไม่ดังเกินไปจนทำให้คลื่นเสียงไปรบกวนการทำงานของลูก และควรเปิดเพลงให้ห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต
นอกจากนี้หลังจากที่ลูกคลอดออกมาแล้ว การที่คุณพ่อคุณแม่เปิดเพลงให้ลูกฟังระหว่างการตั้งครรภ์นั้นจะช่วยทำให้ลูกสามารถจัดลำดับความคิดในสมอง และยังจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
- ส่องไฟกระตุ้นที่หน้าท้อง
เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 7 ในช่วงนี้ทารกในครรภ์สามารถกะพริบตา และตอบสนองต่อแสงไฟได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการเซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนของการรับภาพได้ด้วยการใช้ไฟฉายส่องไปที่หน้าท้อง ซึ่งจะช่วยทำให้การมองเห็นของลูกนั้นมีพัฒนาที่ดีขึ้น และยังช่วยเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นของลูกหลังคลอดได้อีกด้วย
- ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกรัก โดยในขณะที่คุณแม่กำลังเคลื่อนไหวร่างกาย ลูกน้อยในครรภ์ก็จะมีการเคลื่อนไหวไปด้วย ทำให้ผิวกายของลูกนั้นไปสัมผัสผนังส่วนต่าง ๆ ภายในท้องคุณแม่ ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสให้กับลูกรักนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า การกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกในครรภ์ด้วยวิธีการพูดคุย เล่านิทาน เปิดเพลง หรือแม้กระทั่งการส่องไฟฉาย สามารถช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้กับลูกรักในครรภ์ นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยเติมเต็มสายใยรักระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกรักในครรภ์ได้ดีอีกด้วย
บทความที่คุณอาจสนใจ
การเตรียมตัวก่อนคลอดและของเตรียมคลอดที่คุณแม่ควรจัด มีอะไรบ้าง
อาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่ที่ควรมาพบแพทย์
ฤกษ์ผ่าคลอด 2565 ฤกษ์คลอด ฤกษ์มงคล เสริมดวงลูกรัก
อ้างอิง