อาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่ที่ควรมาพบแพทย์

อาการผิดปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์

ในช่วงตั้งครรภ์ นอกจากจะต้องคอยดูแลสุขภาพ และโภชนาการแล้ว คุณแม่ยังต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์เพื่อคอยรับมือ และป้องกันอาการผิดปกติที่อาจทำให้เกิดภาวะแท้งคุกคาม คลอดก่อนกำหนด หรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

อาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่เป็นสิ่งที่ต้องคอยสังเกตอยู่เสมอ เนื่องจากอาการผิดปกติดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ ซึ่งในบางกรณีอาจส่งผลอันตรายและร้ายแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้น นอกจากการให้ความสำคัญเกี่ยวกับโภชนาการ และการบำรุงสุขภาพขณะตั้งครรภ์แล้ว การดูแลและคอยสังเกตอาการผิดปกติจึงเป็นสิ่งจำเป็นและควรใส่ใจอยู่เสมอ

ในบทความนี้เราได้นำอาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ที่คุณแม่ควรระวัง และสังเกตอยู่เสมอมาแบ่งปันคุณแม่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันอันตรายจากอาการผิดปกติดังกล่าวได้ทันท่วงที

อาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์

  • มีเลือดออกทางช่องคลอด

อาการเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างการตั้งครรภ์ถือเป็นสัญญาณอันตรายซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด และมดลูก มีภาวะรกเกาะต่ำ การเจ็บครรภ์คลอด หรือการฝังตัวของตัวอ่อนที่ยังไม่แข็งแรงมากพอ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแท้งคุกคามได้ หากคุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอดจำเป็นต้องเข้าพบแพทย์โดยด่วนเพื่อทำการตรวจ หาสาเหตุ และรักษาต่อไป

คุณแม่ท้องอ่อนๆ มีอาการแพ้ท้อง
  • แพ้ท้องรุนแรง

อาการแพ้ท้องเป็นอาการที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ โดยอาการปกติของอาการแพ้ท้องจะมีลักษณะ คลื่นไส้ พะอืดพะอม และจะดีขึ้นเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์เกิน 14 สัปดาห์ แต่หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงจนส่งผลทำให้ไม่สามารถทานอาหารได้ น้ำหนักลดลง ขาดสารอาหารและขาดน้ำ คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจ และรับสารอาหารทดแทนทันที เพื่อความปลอดภัยของตัวแม่เองและทารกในครรภ์

  • ลูกดิ้นผิดปกติ

การดิ้นหรือการขยับตัวของทารกในครรภ์ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสุขภาพและพัฒนาการของลูกรัก โดยปกติแล้วทารกในครรภ์จะขยับตัวเมื่ออายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ แต่คุณแม่สามารถเริ่มนับลูกดิ้นได้เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 หรือเมื่อมีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์เป็นต้นไป

โดยวิธีการนับลูกดิ้นคุณแม่สามารถทำได้โดยการสังเกตการดิ้นของลูก ลูกกระแทก 1 ครั้ง ให้คุณแม่นับเป็นครั้งที่ 1 และหากมีการดิ้นอีกครั้ง ก็ให้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยใน 1 ชั่วโมง ลูกรักของคุณแม่ควรมีการขยับมากกว่า 4 ครั้ง หากภายใน 1 ชั่วโมงคุณแม่พบว่าการดิ้นของลูกน้อยกว่า 4 ครั้ง ให้ทำการนับต่อไปในชั่วโมงที่ 2 และหากพบว่าการดิ้นยังไม่ถึง 4 ครั้ง ให้คุณแม่ไปโรงพยาบาลโดยด่วน เพราะการที่ลูกไม่ดิ้นอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยทันที

คุณแม่ท้องเช็คอาการ
Shot of a pregnant young woman
  • น้ำคร่ำแตก

ถุงน้ำคร่ำแตก หรือที่เรียกว่าน้ำเดิน หากคุณแม่มีอายุครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว อาการนี้จะถือเป็นสัญญาณที่นำไปสู่กระบวนการคลอด ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อเตรียมคลอดทันที แต่หากยังมีอายุครรภ์ไม่ครบกำหนดและคุณแม่มีอาการเจ็บท้องคลอด น้ำคร่ำแตก และมีอาการปวดหัว ตาพร่ามัว อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงอาการครรภ์เป็นพิษได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยด่วน

  • เจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด

คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสสุดท้ายมีโอกาสปวดท้องได้ แต่จะมีอาการปวดที่แตกต่างกัน โดยอาการเจ็บท้องนั้นจะมี 2 แบบด้วยกัน คือ การเจ็บท้องเตือน และเจ็บท้องคลอด ซึ่งอาการปวดท้องจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้

การเจ็บท้องเตือน: คุณแม่จะรู้สึกถึงอาการท้องแข็ง ซึ่งเกิดจากการออกแรงมากเกินไป เช่น เดินเยอะเกิน ขยับตัวบ่อย โดยการอาการปวดท้องเตือนจะไม่สม่ำเสมอ หากนั่งพักก็จะหายไปเอง

การเจ็บท้องคลอด: คุณแม่จะรู้สึกปวดท้องอย่างสม่ำเสมอ ปวดมากและแรงขึ้น ซึ่งการเจ็บท้องคลอดมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ มีอาการปากมดลูกเปิด หากคุณแม่ยังมีอายุครรภ์ไม่ครบกำหนด อาการดังกล่าวจะถือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการคลอดกำหนด หากคุณแม่ปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ หากคุณแม่มีความไม่แน่ใจว่าอาการเจ็บท้องดังกล่าวเป็นแบบใด ให้คอยสังเกตความถี่ของอาการปวด หากรู้สึกถึงความผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที

อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติของคุณแม่แต่ละท่านอาจมีลักษณะแตกต่างกันออกไป แนะนำให้คุณแม่คอยสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติ และเกิดความไม่สบายใจ สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษา และขอรับคำแนะนำ หากมีความผิดปกติจริง จะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป ที่สำคัญหากคุณแม่มีอาการป่วยหรือมีอาการผิดปกติใดก็ตาม ไม่ควรซื้อยาทานเอง เพราะอาจส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์ได้

บทความที่คุณอาจสนใจ

โภชนาการคุณแม่ตั้งครรภ์ อาหารแม่ท้อง แต่ละไตรมาส

4 วิธีการ กระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์

การเตรียมตัวก่อนคลอดและของเตรียมคลอดที่คุณแม่ควรจัด มีอะไรบ้าง

Ref : 1, 2, 3