สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังรอข่าวดีว่าเมื่อไรจะตั้งครรภ์สักที นอกจากความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ การนับวันตกไข่ เพื่อ เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ แล้ว การรู้เทคนิคสังเกต อาการคนท้อง หรือวิธีเช็ก สัญญาณตั้งครรภ์ ยังช่วยให้คุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์เร็วขึ้น ทำให้ฝากครรภ์ได้เร็วขึ้น และดูแลตนเองในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกได้อย่างเหมาะสม
การสังเกต สัญญาณตั้งครรภ์ เป็นเทคนิคเบื้องต้นที่สามารถเช็ก อาการคนท้องระยะแรก ได้จากภายนอก ก่อนทดสอบด้วย ที่ตรวจครรภ์ หรือไปตรวจครรภ์กับคุณหมอ เพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์อีกครั้ง
สังเกตให้ดี 12 สัญญาณตั้งครรภ์ และอาการคนท้อง 1 – 2 สัปดาห์แรก
หลังจากไข่ของคุณแม่ได้พบกับสเปิร์มของคุณพ่อ และเกิดการปฏิสนธิบริเวณท่อน้ำไข่ ไข่ที่ได้รับการผสมเรียบร้อยแล้วจะค่อย ๆ เคลื่อนย้ายไปฝังตัวลงบนผนังมดลูก เพื่อพัฒนาเป็นทารกที่มีความสมบูรณ์ในอีก 40 สัปดาห์ ในขั้นตอนหลังการปฏิสนธินี้เอง ร่างกายของคุณแม่จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้เราสามารถสังเกตพบ อาการของคนท้อง ได้ดังนี้
- ประจำเดือนขาด หากคุณแม่เป็นคนที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุกเดือน แต่จู่ ๆ กลับขาดหายไป ทั้งที่ไม่ได้มีภาวะเครียด พักผ่อนน้อย หรือมีอาการป่วยที่กระทบกับรอบเดือน ให้ถือมีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์
- คลื่นไส้อาเจียน หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก มักมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะแพ้ท้อง เพราะมีคุณแม่ตั้งครรภ์บางส่วนที่ไม่แพ้ท้องเลยตลอดการตั้งครรภ์
- ไวต่อกลิ่น นอกจากจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนแล้ว คุณแม่ท้องยังไวต่อกลิ่น กลิ่นที่ไม่เคยเหม็นก็อาจเหม็นรุนแรงจนทนไม่ได้ อาการเหล่านี้เกิดจากการเพิ่มระดับขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน
- อยากทานอาหารแปลก ๆ คุณแม่หลายคนเมื่อตั้งท้องอ่อน ๆ มักอยากทานอาหารแปลก ๆ นอกเหนือจากเมนูที่เคยทานอยู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และกลไกของร่างกายที่คอยป้องกันไม่ให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
- อ่อนเพลียง่าย คุณแม่ตั้งครรภ์มักมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ง่วงเหงาหาวนอนตลอดวัน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยมักจะมีอาการอยู่ในช่วง 1 – 2 เดือนแรก ของการตั้งครรภ์เท่านั้น
- คัดตึงเต้านม แม่ท้องไตรมาสแรก จะมีอาการเจ็บเต้านม เต้านมบวม คัดตึง และไวต่อการสัมผัส แต่หลายคนอาจสับสน เนื่องจากมีอาการคล้ายกับช่วงก่อนเป็นประจำเดือน
- มีเลือดออกทางช่องคลอด ในระยะที่ไข่ฝังตัวลงในโพรงมดลูก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับประจำเดือนขาด อาจพบว่ามีเลือดสีจาง ๆ หรือสีชมพูอ่อน ๆ ไหลออกมาจากช่องคลอดเล็กน้อย และหายไปเองภายใน 1 – 2 วัน หากคุณแม่พบว่ามีเลือดออกมาก ร่วมกับมีอาการปวดเกร็งในช่องท้อง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ
- อารมณ์แปรปรวน เป็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทำให้คุณแม่มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ขี้น้อยใจ และคิดเล็กคิดน้อย หากคุณแม่ปรับตัวได้เร็ว ก็จะไม่กระทบกับการทำงาน และชีวิตประจำวัน
- ปวดศีรษะ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ โดยอาจมีอาการปวดมาก ปวดน้อย หรือไม่ปวดเลย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน นอกจากนี้ ความเครียด หรือการพักผ่อนน้อย ก็มีส่วนทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ ปวดศีรษะได้เช่นกัน
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น อาจพบอาการนี้หลังจากตั้งครรภ์แล้ว 2 – 3 เดือน เนื่องจากมดลูกขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนไปเบียดกับกระเพาะปัสสาวะของคุณแม่
- ท้องผูก หรือท้องอืด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร และการขยายตัวของมดลูกที่ไปกดทับลำไส้ ทำให้คุณแม่มีอาการท้องอืดจากอาหารไม่ย่อย และท้องผูกอยู่บ่อย ๆ ในระยะนี้ คุณแม่ควรทานอาหารที่ย่อยง่าย มีกากใยสูง และดื่มน้ำสะอาดเพิ่มขึ้น เพื่อปรับสมดุลของลำไส้ และช่วยให้ขับถ่ายง่ายยิ่งขึ้น
- ตกขาวเล็กน้อย เป็นผลต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีการตกขาวเล็กน้อย หากไม่มีกลิ่น หรือสีที่ผิดปกติ ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
แม้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนจะมีสัญญาณตั้งครรภ์แตกต่างกันไป แต่ถ้าหากพบการเปลี่ยนแปลงที่เข้าข่ายอาการข้างต้นนี้ แนะนำให้คุณแม่ยืนยันด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์อีกครั้ง และหากพบว่าตั้งครรภ์จริง ควรรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และทารกในครรภ์
บทความที่คุณอาจสนใจ
โภชนาการคุณแม่ตั้งครรภ์ อาหารแม่ท้อง แต่ละไตรมาส
อาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่ที่ควรมาพบแพทย์