ช่วงเวลาก่อนวัยเรียน หมายถึงช่วงที่ลูกของเรามีอายุ 1-3 ปี ในช่วงเวลานี้คุณพ่อคุณแม่อาจเข้าใจว่า ยังไม่สามารถฝึก หรือกระตุ้นพัฒนาการได้เท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะการกระตุ้นพัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียนเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ส่งผลต่ออนาคตของลูก ทั้งยังเป็นการวางรากฐานการเรียนรู้ในช่วงวัยต่อไปได้อย่างมีศักยภาพ
ก่อนจะพูดถึงการกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กวัย 1-3 ปี คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักกับ 4 พัฒนาการหลักของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการต่อยอด กระตุ้น และส่งเสริมพัฒนาการในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ได้แก่
- พัฒนาการด้านร่างกาย หมายถึง ความสามารถของร่างกายในการเคลื่อนไหว และการทรงตัว การใช้สัมผัสต่าง ๆ ในการรับรู้ การกระตุ้นพัฒนาการในด้านนี้ให้แก่ลูก จะมุ่งในเน้นให้ลูกเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย การเคลื่อนไหวของลูก จะส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดพัฒนาการจากการทำงานประสานกัน
- พัฒนาการด้านจิตใจและอารมณ์ หมายถึง ความสามารถในการแสดงความรู้สึกที่หลากหลาย เช่น พอใจ ไม่พอใจ รัก ชอบ ไม่ชอบ โกรธ กลัว และมีความสุข เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องคอยสังเกต ทำความเข้าใจ และช่วยสร้างจิตใจที่ดีให้แก่ลูก
- พัฒนาการด้านสติปัญญา หมายถึงความสามารถในการเรียนรู้ รับรู้ สังเกต จดจำ รู้เหตุผล และสามารถคิด วิเคราะห์แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ การเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง และส่งเสริมให้เกิดจินตนาการ ให้ลูกสนุกกับการใช้ความคิด จะเป็นรากฐานของพัฒนาการด้านสติปัญญา
- พัฒนาการด้านสังคม หมายถึงความสามารถในการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น มีความรับผิดชอบ รู้กาลเทศะ รวมถึงความสามารถในการช่วยเหลือ และรับผิดชอบตนเองได้ในชีวิตประจำวัน รู้จักแยกแยะ ผิดชอบชั่วดี และมีสำนึกต่อส่วนรวม
แม้เด็กวัยนี้จะสื่อสารได้ไม่คล่อง ไม่เข้าใจอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น การใช้เหตุผล กฎเกณฑ์ต่าง ๆ แต่เด็กก่อนวัยเรียนอายุ 1-3 ปีนั้น มีพัฒนาการหลายด้านที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นให้พวกเขาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้แก่
- พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการในด้านนี้ให้ลูกได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกได้ลอง ชันคอ คืบ คลาน นั่ง ยืน เดิน วิ่ง ปีนป่าย ออกกำลังกาย เป็นต้น
- พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการในด้านนี้ให้แก่ลูกได้ด้วยการให้ลูกสัมผัสพื้นผิวที่มีความแตกต่างกัน ให้ลูกคว้าจับสิ่งของที่มีขนาดแตกต่างกัน ให้ลูกขีดเขียนสีเทียน ปั้นดินน้ำมัน เป็นต้น
- พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการด้านนี้ให้แก่ลูกได้ ด้วยการเริ่มให้ลูก หยิบจับขวดนมด้วยตัวเอง หยิบอาหารเข้าปากเอง ถือแก้วน้ำเองได้ และสอนให้รู้จักเก็บของเล่น เป็นต้น
- พัฒนาการด้านภาษา คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นได้ด้วยการ “เรียก” หรือสอนให้ลูกรู้จักชื่อตัวเอง สอนให้เข้าใจหน้าที่ของสิ่งของต่าง ๆ เช่น ช้อนไว้ใช้ตักข้าว หวีใช้หวีผม แปรงใช้แปรงฟัน แก้วใช้ดื่มน้ำ เป็นต้น รวมทั้งควรฝึกฝนให้ลูกเข้าใจคำสั่งง่าย ๆ อย่าง การขอสิ่งของจากลูก หรือลองให้ลูกพูดตามคำพยางค์เดี่ยวสั้น ๆ ที่มีความหมาย เป็นต้น
- พัฒนาการด้านสังคม คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนได้ด้วยการยิ้มทักทายกับลูก เล่นจ๊ะเอ๋ สอนให้ลูกเล่นของเล่นอย่างถูกประเภท ถูกวิธี และทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นเพื่อนลูก
- พัฒนาการด้านการควบคุมตนเอง คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักกิจวัตรประจำวัน อย่าง ตื่นเช้าเป็นเวลา รับประทานอาหารให้ตรงเวลา เข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวในตอนเช้า ฝึกให้ลูกทำทุกวันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
เคล็ดลับฝึกฝน กระตุ้นพัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียนให้ได้ผลดี
การกระตุ้น หรือส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กก่อนวัยเรียน ส่วนใหญ่แล้วก็เพื่อให้ลูกสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น สามารถเอาตัวรอด รับผิดชอบตัวเอง และปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างดีในอนาคต เพื่อให้การกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้ผลดีที่สุด เราจึงหยิบเคล็ดลับดี ๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ ดังนี้
- เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะลูกในวัยนี้ พวกเขาจะเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบเป็นส่วนใหญ่ ทั้งรูปแบบในการพูด มารยาท การเคลื่อนไหว พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ แสดงออกมาอย่างตั้งใจ และไม่ตั้งใจ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกโตขึ้นมีพฤติกรรมที่ดีก็ให้เริ่มทำสิ่งดี ๆ ให้ลูกเห็นอย่างสม่ำเสมอ
- จัดตารางชีวิตที่ดี ฝึกให้ลูกรับประทานอาหาร เข้านอน และมีช่วงเวลาในการขับถ่ายเป็นเวลา การมีตารางชีวิตที่ดี นอกจากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลและจัดแจงเรื่องราวต่าง ๆ ของลูกได้ดีแล้ว ยังทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง และสามารถปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้น
- สอนอย่างใจเย็น เลือกใช้คำอธิบายง่าย ๆ บอกช้า ๆ สอนอย่างสม่ำเสมอ พยายามลดการช่วยเหลือให้น้อยลง ให้โอกาสลูกได้ลองทำเอง และให้เวลากับเขาจนกว่าจะทำเองได้
- ให้กำลังใจลูกเสมอ แสดงความชื่นชมลูกเมื่อลูกทำในสิ่งที่ดี หากยังทำไม่ได้ก็อย่าจ้องแต่จะตำหนิติเตียน แต่เปลี่ยนมาเป็นการให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจเพื่อให้ลูกกล้าทดลองทำใหม่อีกครั้ง ควรสอนทุกสิ่งทุกอย่างอย่างใจเย็น หากลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ควรดุด่าว่ากล่าว หรือใช้ความรุนแรงกับลูกเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ช่วยทำให้ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมแย่ ๆ ให้ลูกเห็นผ่านการกระทำอีกด้วย