การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มลงมือทำตั้งแต่ลูกยังอยู่ในวัยแบเบาะ เนื่องจากเด็ก ๆ จะเริ่มมีพัฒนาการด้านจินตนาการตั้งแต่แรกเกิด และเริ่มนำจินตนาการมาใช้กับการเล่นตั้งแต่ช่วงอายุ 2 ขวบขึ้นไป หากคุณพ่อคุณแม่ให้การสนับสนุนและกระตุ้นให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ย่อมส่งผลให้ลูกโตมาเป็นเด็กฉลาด มีความคิดในเชิงบวก และนำไปต่อยอดเพื่อเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในอนาคตได้อย่างมีศักยภาพ
ความสำคัญของการ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก ตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียน เป็นการปลูกฝังทักษะจำเป็นที่ควรมีติดตัวของเด็กทุกคนในยุคนี้ให้กับลูกรัก ช่วยให้ลูกสามารถนำเอาทักษะความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ ไปประยุกต์ใช้กับสิ่งตนเองสนใจ ซึ่งจะช่วยให้ก้าวเข้าใกล้ความสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
เทคนิคสำคัญที่ช่วยให้การ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก ประสบความสำเร็จได้ดี
1. สร้างบรรยากาศให้เป็นใจ
สภาพแวดล้อมถือว่าสำคัญต่อการกระตุ้นด้านความคิดสร้างสรรค์ของลูกไม่น้อย บรรยากาศที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องเงียบสงบเสมอไป แต่ก็ไม่ควรมีสิ่งรบกวนสมาธิของลูกมากนัก การจัดห้องให้ลูกเล่นก็ควรมีภาพวาดจินตนาการ ภาพการ์ตูน ตกแต่งด้วยโทนสีสบายตา อาจจัดส่วนที่ผนังโล่ง ๆ ให้เด็กได้วาดเขียนอย่างอิสระ (ควรทาสีที่สามารถเช็ดล้างได้ง่าย) สิ่งสำคัญคือ ลูกต้องรู้สึกว่าเป็นตัวของตัวเอง ใช้ความคิดได้อย่างอิสระ และแสดงออกได้เต็มที่
2. เล่นของเล่นเสริมจินตนาการ
มีของเล่นหลายชนิดที่ให้ทั้งความสนุก ช่วยสร้างสมาธิ แถมยังกระตุ้นให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ เช่น สมุดวาดภาพระบายสี ตัวต่อเลโก้ การ์ดคำ หนังสือนิทาน สไลม์ ดินน้ำมัน หรืออุปกรณ์เล่นบทบาทสมมติ เป็นต้น หากในห้องนั้นมีของเล่นหลายชนิด ควรให้ลูกตัดสินใจเลือกเล่นทีละอย่าง เพราะการมีของเล่นอยู่ตรงหน้ามากเกินไป จะทำให้ลูกจดจ่ออยู่กับของสิ่งนั้นได้สั้น ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเล่นเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
3. เล่นบทบาทสมมติ
เด็กช่วงก่อนวัยเรียนอาจจะยังมีเพื่อนเล่นไม่เยอะนัก ดังนั้น การเล่นบทบาทสมมติ เช่น เล่นขายของ เล่นพ่อแม่ลูก เล่นสวมบทเป็นอาชีพต่าง ๆ พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมกับลูกด้วย ในขณะที่เล่นด้วยกันนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสอดแทรกคำพูด รูปประโยคง่าย ๆ และคำศัพท์ง่าย ๆ เพื่อให้ลูกจดจำได้ดีขึ้น เช่น สอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษผ่านของเล่นต่าง ๆ แล้วอธิบายถึงสิ่งของเหล่านั้นง่าย ๆ เพื่อให้ลูกเกิดความคิด และจิตนาการกับคลังคำชุดใหม่ในทุกครั้งที่เล่นด้วยกัน
4. ตั้งคำถามกับลูกบ่อย ๆ
ตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ลูกคิด กล้าแสดงออก กล้าบอกความรู้สึกของตัวเองออกมา และปลูกฝังให้ลูกไม่กลัวที่จะตั้งคำถามเมื่อเกิดความสงสัย โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามปลายเปิดกับลูก เช่น ลูกเห็นก้อนเมฆเป็นรูปอะไร อยากให้พี่หมีในภาพใส่เสื้อสีอะไร แล้วปล่อยให้ลูกใช้ความคิด และปลดปล่อยจินตนาการอย่างอิสระ คุณพ่อคุณแม่ควรฟังลูกด้วยความตั้งใจ เมื่อลูกพูดจบแล้วพ่อแม่ค่อยอธิบายเสริมในส่วนที่ขาดไป ควรหลีกเลี่ยงคำพูดเชิงลบ เช่น ห้าม อย่า ไม่ หรือทำไม่ได้หรอก เพราะเป็นการจำกัดให้ลูกติดอยู่ในกรอบเดิม ๆ ซึ่งทำให้ขาดแรงบันดาลใจในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และกลัวความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่รู้ของตนเอง
5. การเรียนรู้นอกบ้าน
การพาลูกออกไปเที่ยว ไปเปิดหูเปิดตาด้วยการทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น สวนสนุก สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สอดแทรกวิถีชีวิตที่แตกต่างจากชีวิตประจำวัน ช่วยให้ลูกได้เปิดโลกกว้าง และตื่นเต้นกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ในระหว่างนั้น ลองชวนให้ลูกมอง สังเกต จดจำสิ่งที่อยู่รอบตัว แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยอ่านในนิทาน หรือเคยเห็นในโทรทัศน์ เทคนิคง่าย ๆ เหล่านี้ช่วยให้ลูกมีความละเอียด สามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้ดี และนำไปต่อยอดเป็นไอเดียสร้างสรรค์ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยมีอยู่
6. ฝึกให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
หากมีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้น เช่น กระดุมหลุด ลองเปิดโอกาสให้ลูกได้ทดลองติดด้วยตัวเองก่อน การลองให้ลูกแก้ไขปัญหาเองก่อน จะฝึกให้ลูกมีกระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และพลิกแพลงความคิดเพื่อแก้ไขปัญหา หากลูกทำสำเร็จก็ชื่นชม ถ้าลูกทำไม่สำเร็จก็ให้กำลังใจ แล้วช่วยแก้ไขให้ลูก พร้อมกับสอนไปด้วย จะทำให้ลูกจดจำวิธีทำได้ดี และสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง
7. ยอมรับความผิดพลาด
เมื่อลูกทำอะไรผิดพลาด อย่าออกปากตำหนิหรือตัดสินการกระทำของลูกทันที ให้คุณพ่อคุณแม่อาศัยความผิดพลาดนั้นเป็นบทเรียนสำคัญที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้และแก้ไข โดยสอนให้ลูกรู้ว่าทุกความผิดพลาดคือโอกาสในการพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อลูกมีความมั่นใจว่าแม้ทำผิดพลาดก็ยังมีพ่อแม่คอยสนับสนุนอยู่ข้าง ๆ เมื่อก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องความกลัวไปได้ ก็จะใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำมาแก้ปัญหาได้อย่างยอดเยี่ยม
8. ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจกังวลว่า การปล่อยให้ลูกเล่นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือดูโทรทัศน์ตั้งแต่วัยเด็ก จะมีผลกระทบกับพฤติกรรมและสุขภาพลูกทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีต่าง ๆ คือ สิ่งสำคัญที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เมื่อโลกหมุนไวขึ้น เราจึงไม่อาจหยุดเด็ก ๆ ไว้กับโลกปัจจุบัน ดังนั้นการเปิดโอกาสให้ลูกได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยี และเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ตามวัยที่เหมาะสม จะช่วยให้ลูกค้นพบความถนัด ความชอบ และมีโอกาสกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในนวัตกรรมนั้น ๆ ได้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การสอนให้ลูกรู้จักการใช้โซเชีลยมีเดียในทางสร้างสรรค์ ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางสร้างทักษะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการเรียนรู้อย่างมีศักยภาพได้เช่นเดียวกัน
เด็กแต่ละคนมีความชอบ และความสนใจที่แตกต่างกัน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถนำเทคนิคข้างต้นนี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบุตรหลานของตนเอง และไม่ลืมที่จะบอกกับตนเองเสมอว่า ลูกจะสามารถพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ได้มากหรือน้อยเท่าไร ขึ้นอยู่กับการสร้างโอกาสของคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเรานั่นเอง
บทความที่คุณอาจสนใจ
เตรียมความพร้อมก่อนเข้าอนุบาล คุณพ่อคุณแม่ต้องทำอะไรบ้าง
การเสริมสร้าง พัฒนาการสมองของลูก วัยแรกเกิด – 3 ปี
โภชนาการสำหรับเด็ก 1 – 3 ปี สารอาหารสำคัญสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนมีอะไรบ้าง?