เตรียมความพร้อมก่อนเข้าอนุบาล คุณพ่อคุณแม่ต้องทำอะไรบ้าง

เด็กเล็กกำลังยิ้ม
.

ลูกวัย 3 ปี เป็นวัยที่สามารถดูแลตัวเองได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มเตรียมความพร้อมก่อนเข้าอนุบาลให้กับลูกได้แล้ว เพราะหากลูกสามารถดูแลตัวเองได้ดี และสามารถรับผิดชอบหน้าที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ตามวัย ย่อมทำให้ลูกสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ในโรงเรียนอนุบาลได้ง่ายขึ้น 

เทคนิคเตรียมความพร้อมให้ลูกก่อนเข้าอนุบาล สำหรับเด็กวัย 3 ปีขึ้นไป

การเตรียมความพร้อมให้ลูกก่อนเข้าเรียนอนุบาล คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความเข้าใจพื้นฐานหลาย ๆ เรื่องของเด็กวัยนี้ เช่น ต้องมีความเข้าใจในพัฒนาการตามวัย ลักษณะนิสัยและบุคลิกของลูก ตลอดจนสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนในอนาคต โดยผู้ปกครองสามารถนำคำแนะนำด้านล่าง ไปปรับใช้กับเด็ก ๆ วัยเตรียมเข้าอนุบาลได้ ดังนี้ 

  • สอนให้ลูกสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ 

คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกให้ลูกสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้น อย่างน้อยควรใส่เสื้อผ้าหรือถอดเสื้อผ้าเองได้ รับประทานอาหารเองได้ ดื่มน้ำเองได้ แปรงฟันเองได้ เข้าห้องน้ำเองได้ บอกคุณครูเมื่อต้องการความช่วยเหลือได้ หากลูกทำได้ ก็จะสามารถปรับตัวเข้ากับวัยเรียนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ลูกควรมีความเข้าใจในวิถีชีวิตแบบ New normal โดยคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักวิธีเบื้องต้นในการป้องกันเชื้อโรครอบตัว เช่น สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่างที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรสอนด้วยการทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างทุกวัน ซึ่งจะทำให้เกิดการเลียนแบบและทำตามอย่างเป็นธรรมชาติ

เด็ก 3 คนกำลังเล่นกัน
  • สอนให้ลูกมีทักษะการเข้าสังคม

เด็กวัยอนุบาลจะต้องรู้จักการแบ่งปัน แบ่งของเล่น และเล่นกับคนอื่นเป็น ควรเริ่มจากการที่คุณพ่อคุณแม่เล่นกับลูกก่อน เช่น ให้ลูกแบ่งของเล่นให้คุณพ่อคุณแม่เล่นบ้าง เมื่อลูกสามารถเล่นกับคนอื่นได้ ก็เท่ากับเป็นการเรียนรู้การเข้าสังคมในระดับเบื้องต้นแล้ว โดยในขณะที่ฝึกลูกต้องไม่บังคับหรือขู่เข็ญจนเกินไป เพราะยิ่งบังคับก็จะยิ่งทำให้ลูกหวงของมากขึ้น อีกวิธีที่ช่วยฝึกให้เด็กเข้าสังคมได้ดีขึ้น คือ การพาลูกไปทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เช่น ไปเรียนวาดรูป ไปเล่นที่สนามเด็กเล่น (มีทั้งแบบกลางแจ้งและในร่ม) ไปดูพิพิธภัณฑ์ และไปแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกับเด็กในหลาย ๆ ช่วงวัย 

  • สร้างทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียนให้กับลูก

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เชื่อว่าหลายคนก็คงเคยไปโรงเรียนวันแรกแล้วร้องไห้งอแง มองหาพ่อแม่ อยากกลับบ้าน เพราะนอกจากจะไม่ชินกับสถานที่แปลกใหม่นอกจากบ้านแล้ว ยังรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องห่างพ่อแม่ ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ ชี้ให้เห็นว่าการไปเรียนคือความสนุก รักษาสัญญาว่าจะมารับลูกตรงเวลาเมื่อเลิกเรียน และสร้างทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียนกับลูก ไม่ควรใช้คำขู่ที่น่ากลัว เช่น ถ้าดื้อมาก ๆ หรือร้องไห้ไม่หยุด จะส่งไปอยู่กับคุณครูที่โรงเรียน เนื่องจากจะทำให้ลูกวิตกกังวล มองว่าโรงเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ดี และต่อต้านการไปโรงเรียนมากขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน อย่าสร้างความคาดหวังที่ไม่มีจริงให้กับลูก หรือพูดราวกับโรงเรียนคือสถานที่มหัศจรรย์ หากเป็นไปได้ ควรพาลูกไปเที่ยวสำรวจโรงเรียนเพื่อสร้างความคุ้นเคย ก่อนวันเปิดเรียน ก็จะช่วยลดความกังวลเมื่อถึงวันเปิดเรียนจริง ๆ ได้มาก

  • สอนให้ลูกใช้ภาษาสื่อสารอย่างถูกต้องและเหมาะสม

การสอนให้ลูกรู้จักบอกความต้องการของตัวเองจะช่วยให้การใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนง่ายขึ้น หากลูกสามารถบอกความต้องการของตนเองกับคนอื่นได้ ลูกก็จะปรับตัวได้ดี นอกจากนี้ การที่ลูกสามารถสื่อสารได้ดียังช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวลงได้ด้วย เพราะเด็กที่พูดสื่อสารไม่ได้ อาจแสดงความต้องการด้วยการทำร้ายเพื่อน หรือแย่งของเล่นจากเพื่อนเพราะอยากเล่น แทนการพูดขอดี ๆ เป็นต้น

เด็กผู้หญิงกำลังเล่นตัวต่อ
  • เสริมสร้างการใช้กล้ามเนื้อให้กับลูก

ควรพาลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็ก ก็จะทำให้ลูกสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการบ้านได้อย่างดี เรียนรู้ได้ทันเพื่อนวัยเดียวกัน โดยกิจกรรมฝึกฝนกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้แก่ การวิ่ง เตะฟุตบอล ถีบจักรยาน กระโดด และการออกกำลังกายกลางแจ้งอื่น ๆ ซึ่งช่วยให้เด็ก ๆ สามารถทำกิจกรรมในโรงเรียนอนุบาลได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนกล้ามเนื้อมัดเล็กจะเน้นการใช้มือและนิ้วมือ เช่น การขีดเขียน วาดรูป ระบายสี ปั้นแป้งโดว์ ฝึกหยิบจับของต่าง ๆ โดยสามารถฝึกฝนผ่านการทำกิจวัตรประจำวันง่าย ๆ เช่น ให้ลูกตักข้าวเอง หัดถอดกระดุมเอง แปรงฟันเอง เป็นต้น

  • สอนให้ลูกการเคารพกฎกติกา

ทุกสถานที่ย่อมต้องมีกฎระเบียบของเป็นของตนเอง โรงเรียนอนุบาลก็เช่นกัน ดังนั้น การสร้างระเบียบและวินัยให้ลูกในวัยก่อนเข้าอนุบาล จะช่วยให้ลูกสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมที่มีกฎระเบียบได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มฝึกจากกิจกรรมในบ้านง่าย ๆ อย่าง การรับประทานอาหารให้เป็นเวลา การนั่งโต๊ะรับประทานอาหาร การเข้านอนและตื่นเป็นเวลา การเล่นของแล้วเก็บเข้าที่ เป็นต้น เมื่อลูกเคยชินกับการใช้ชีวิตที่มีระเบียบ มีกติกา ก็จะสามารถปรับตัวเข้ากับโรงเรียนที่มีกฎระเบียบได้อย่างเป็นธรรมชาติ

  • สอนให้ลูกรู้จักปกป้องตัวเอง

การสอนให้ลูกรู้จักปกป้องตัวเองเบื้องต้นเมื่อเจอเรื่องไม่ดี หรือไม่ถูกไม่ควร คือ การสร้างเกราะป้องกันภัยให้ลูก คุณพ่อคุณแม่อาจสอนจากเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว เช่น หากโดนกลั่นแกล้งให้บอกคุณครู เมื่อโดนทำร้ายไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนต้องบอกพ่อแม่ โดยเฉพาะเรื่องละเอียดอ่อน อย่าง การล่วงละเมิดทางเพศ ควรสอนลูกไปเลยว่า จุดใดบ้างที่ไม่ควรให้ใครมาสัมผัส และหากมีใครมาสัมผัสจุดซ่อนเร้นของลูก ต้องรีบบอกให้พ่อแม่รู้ทันที ทั้งนี้ เมื่อลูกเข้าเรียนอนุบาลไปแล้ว พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตว่าลูกมีพฤติกรรมผิดปกติหรือไม่ ควรพูดคุยสอบถามหลังกลับจากโรงเรียนทุกวัน เพื่อสร้างความสนิทสนมกับลูก หากมีอะไรเกิดขึ้น ลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่อยู่ข้างลูก และพร้อมรับฟังด้วยความเข้าใจเสมอ

เด็กกำลังอ่านหนังสืออยู่กับตุ๊กตาหมี
  • สร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ และจินตนาการ 

ในช่วงอายุ 3 ขวบขึ้นไป เด็ก ๆ จะมีความคิดมีจินตนาการสูง หลายคนแสดงพรสวรรค์ให้ผู้ปกครองเห็น เด็กบางคนเริ่มพูดถึงอาชีพในฝัน ในแต่ละวันที่คุณครูสอน การบ้านที่ครูให้ทำ ตลอดจนสื่อการสอนต่าง ๆ ล้วนแต่สามารถเสริมสร้างการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ จนสามารถค้นพบความถนัดหรือสิ่งที่ลูกสนใจได้ ตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็สามารถเสริมสร้างศักยภาพในเชิงสร้างสรรค์ของลูกได้เช่นกัน ด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมให้ตรงกับสิ่งที่ลูกสนใจ เช่น ใส่รายละเอียดอาชีพต่าง ๆ ในห้องนอนลูก อย่าง เครื่องบิน รถแข่ง หูฟังคุณหมอ หนังสือนิทาน อุปกรณ์แต่งหน้า อาจจะเพ้นท์ผนังห้องลูกเป็นรูปดวงดาว กาแล็กซี่ ทะเล ภูเขา ตัวโน๊ตดนตรี หรือฉากในนิทานเรื่องโปรด เป็นต้น

เด็ก 2 คนนั่งบนตักแม่

นอกจากการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าอนุบาลให้ลูกแล้ว การเตรียมความพร้อมของคุณพ่อคุณแม่ก็สำคัญไม่ต่างกัน แม้ว่าลูกจะเริ่มเรียนอนุบาลแล้วก็ไม่ได้แปลว่าบทบาทของพ่อแม่จะลดน้อยลง หรือเหนื่อยน้อยลง เพราะยังมีสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำและต้องวางแผนในอนาคตอีกมาก เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน กิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้นอกโรงเรียนของลูก เวลาในการรับ-ส่งลูก เวลาสอนการบ้านลูก ตลอดจนการค้นหาสื่อการสอนต่าง ๆ ในกรณีลูกเรียนในระบบโฮมสคูล (Home School) หรือมีการปรับแนวทางการเรียนเป็นช่องทางออนไลน์เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความร้ายแรง เป็นต้น 

บทความที่คุณอาจสนใจ

เทคนิค พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก ตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียน

การเสริมสร้าง พัฒนาการสมองของลูก วัยแรกเกิด – 3 ปี

เล่นกับลูกอย่างไรให้พัฒนาการดี กิจกรรมเสริมทักษะเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 1-3 ปี มีอะไรบ้าง 

Ref. 1, 2, 3, 4