พัฒนาการสมองของลูก เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจอย่างมาก หลายครอบครัวกลัวว่าลูกจะไอคิวต่ำ เรียนรู้ช้า หรือมีพัฒนาการไม่ทันเพื่อนวัยเดียวกัน ดังนั้น นอกจากการดูแลให้ลูกได้รับประทานอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วนตามวัย โดยเน้นสารอาหารบำรุงระบบประสาทและสมองแล้ว ยังควรสนับสนุนให้ลูกได้เสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ และกระตุ้นพัฒนาการสมองผ่านการเล่นในรูปแบบต่าง ๆ อย่างอิสระ
สิ่งสำคัญที่สุด คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องสนับสนุนการสร้าง พัฒนาการสมองของลูก ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมตามวัย ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการสมองของเด็ก ๆ ในวัยแรกเกิด – 3 ปี เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ใช้ในการกระตุ้นพัฒนาการลูกรักได้อย่างถูกต้อง
พัฒนาการสมองเด็ก ขวบปีแรก
ในช่วงแรกเกิดหรือวัยแบเบาะ ลูกจะสามารถมองเห็น ได้ยิน เริ่มเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ เช่น ร้องไห้เมื่อหิว งอแงเมื่อง่วงหรือรู้สึกไม่สบายตัว เป็นต้น นอกจากนี้เด็กแรกเกิดยังสามารถจดจำใบหน้าของคนใกล้ชิดได้บ้างแล้ว ซึ่งวิธีการกระตุ้นเพื่อพัฒนาสมอง สามารถทำได้โดยการพูดคุยกับลูก และให้ลูกเห็นใบหน้าบ่อย ๆ และอาจจะใช้ของเล่นอย่าง เช่น แขวนโมบายล์สีสด ๆ เพื่อกระตุ้นการมองเห็นของลูก เล่นจ๊ะเอ๋ พูดคุยกับลูกทุกวัน หรือเรียกชื่อลูกบ่อย ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ สภาพแวดล้อม ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการ ภายในบ้านควรเป็นพื้นที่สะอาด มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจน ไม่ควรมีเสียงดังรบกวนมากจนเกินไป อาจมีการเปิดเพลงคลอ เล่านิทาน หรือชวนกันร้องเพลงให้ลูกฟัง ก็ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านสมองให้ลูกรักได้เป็นอย่างดี
เมื่อเข้าสู่วัยเริ่มคลาน เด็ก ๆ จะสนใจของเล่นมากขึ้น แต่ควรระวังเนื่องจากเด็กในวัยนี้มักจะชอบหยิบสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวเข้าปาก ที่สำคัญคือ ไม่ควรซื้อของเล่นให้ลูกมากชิ้นเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกเสียสมาธิ เพราะเลือกไม่ถูกว่าจะเล่นของเล่นชิ้นไหนก่อนดี ยิ่งมีของเล่นน้อยชิ้น ก็จะทำให้เด็กมีเวลาเล่น หรือศึกษาของเล่นชิ้นนั้นอย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีของการสร้างสมาธิของเด็กในอนาคต
พัฒนาการสมองเด็ก 2 ขวบ
ในช่วงวัยนี้ สมองของลูกจะมีพัฒนาการมากขึ้น สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ซับซ้อนหลายขั้นตอนมากขึ้น จะเห็นได้จากรูปแบบของเล่นที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ จะมีลักษณะการเล่นเป็นรูปแบบชัดเจนมากขึ้น เช่น ของเล่นที่ต้องหยอดวัตถุใส่กล่อง มีการร้อยเชือก จัดเรียงเป็นบล็อก หรือต่อเลโก้ และคุณแม่ไม่ต้องแปลกใจเลย ถ้าเห็นลูกรักพยายามรื้อหรือแกะของเล่นออกมาดูว่าข้างในเป็นอย่างไร เพราะเด็กวัยนี้จะอยากรู้อยากเห็น ชอบลองผิดลองถูก หากได้รับการสนับสนุนที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ ก็จะช่วยให้ลูกมีความคิดและจินตนาการกว้างขึ้น ไม่ติดอยู่ในกรอบจำกัด ซึ่งมักเกิดจากการห้ามนั่นห้ามนี่ของพ่อแม่ในช่วงวัยนี้นั่นเอง
อีกหนึ่งเรื่องที่พ่อแม่ต้องระมัดระวังมากสำหรับลูกวัยนี้ คือ ไม่ควรพูดจารุนแรง พูดคำหยาบคาย ทะเลาะกันรุนแรง หรือให้เด็กเห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพ่อแม่และคนในบ้าน เนื่องจากเด็กวัยนี้จะเริ่มสังเกต พร้อมที่จะจดจำพฤติกรรมของคนรอบตัว และเลียนแบบพฤติกรรมแทบจะในทันที จะเห็นได้ว่า บางสิ่งบางอย่างคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้สอน แต่เด็กก็ทำเองได้โดยการเลียนแบบพฤติกรรมที่เห็นอยู่เป็นประจำ
พัฒนาการสมองเด็ก 3 ขวบ
ในช่วงวัยนี้ เริ่มรู้จักการเข้าสังคม ชอบเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน เข้าใจกฎเกณฑ์พื้นฐานต่าง ๆ รู้จักการให้ รับ และแบ่งปันกับผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ชอบสำรวจ ช่างสงสัย ชอบซักถาม คุณพ่อคุณแม่ควรตอบคำถามลูกทุกครั้ง และพยายามอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่ลูกอยากรู้อย่างใจเย็น เพราะการตอบคำถามลูก จะช่วยเปิดโลกใบใหม่ ช่วยพัฒนาสติปัญญา และสร้างความมั่นใจให้ลูกกล้าถามกล้าลงมือทำในสิ่งที่สนใจ นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้ลูกค้นพบตัวตน ค้นหาความถนัด และพัฒนาศักยภาพในตนเองได้อย่างรวดเร็ว
บทบาทของพ่อแม่ในการพัฒนาศักยภาพสมองของลูกรัก
มีคำกล่าวว่า พ่อแม่ คือ ของเล่นที่ดีที่สุดของลูก สะท้อนให้เห็นว่า พ่อแม่และผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย โดยสามารถมีส่วนร่วมกับลูกได้ทุก ๆ กิจกรรม เช่น ชวนกันเล่นบทบาทสมมติ หรือชวนกันออกไปสำรวจสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ ปล่อยให้ลูกสำรวจธรรมชาติรอบตัว โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยดูแลอยู่ห่าง ๆ คอยให้คำแนะนำ ให้คำปลอบโยนเมื่อลูกต้องการกำลังใจ และชื่นชมเมื่อลูกทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดสำเร็จ
การเป็นส่วนหนึ่งในทุก ๆ กิจกรรมของลูก นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ดีแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังอาศัยจังหวะนี้สอดแทรกการสอนเข้าไประหว่างเล่นได้ เช่น การสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ภาษา และเพิ่มพูนคลังคำศัพท์ตลอดเวลา รวมถึงควรสอนให้ลูกรู้จักนวัตกรรมและคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเหมาะสมตามวัย ซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและในอนาคต
สิ่งสำคัญที่สุด คือ การที่ลูกถูกกระตุ้นและสนับสนุนให้มีพัฒนาการสมองในเชิงบวกตั้งแต่วัยแบเบาะ เป็นการช่วยปูพื้นฐานการเรียนรู้ที่มั่นคง ส่งเสริมให้มีความฉลาด สมองไว มีความคิดสร้างสรรค์ มีความมั่นใจ กล้าคิดนอกกรอบ กล้าลงมือทำ ไม่กลัวความล้มเหลว ไม่ลังเลที่จะตัดสินใจ สามารถเอาตัวรอดได้ในภาวะกดดัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ และส่งเสริมให้ลูกประสบความสำเร็จในสิ่งที่สนใจได้อย่างง่ายดาย
บทความที่คุณอาจสนใจ
โภชนาการสำหรับเด็ก 1 – 3 ปี สารอาหารสำคัญสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนมีอะไรบ้าง?
เตรียมความพร้อมก่อนเข้าอนุบาล คุณพ่อคุณแม่ต้องทำอะไรบ้าง