การดูแลเรื่องโภชนาการสำหรับเด็กวัย 1-3 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของคุณพ่อคุณแม่ เพราะสารอาหาร รวมถึงอาหารการกินต่าง ๆ ของลูกในวัยนี้ คือสิ่งที่ส่งผลต่อพัฒนาการ และการเจริญเติบโตอย่างรอบด้าน อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่จะติดตัวเขาไปจนโต
สำหรับเด็กวัย 1-3 ปี ในช่วงวัยดังกล่าว ลูกจะสามารถรับประทานอาหารต่าง ๆ ได้หลากหลายคล้ายกับผู้ใหญ่แล้ว ต่างจากสมัยทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนลูกอายุยังไม่ถึง 6 เดือน ที่รับประทานแค่เพียงนมแม่อย่างเดียวก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และดีต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ มากที่สุดแล้ว ดังนั้นเมื่อลูกโตขึ้น ความใส่ใจในการเลือกอาหาร และรู้จักกับแหล่งที่มาของสารอาหารสำคัญในแต่ละช่วงวัยของลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบ
โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็กอายุ 1 – 3 ปี
สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป โภชนาการที่ดีและเหมาะสมสำหรับเขาก็คือ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ โดยควรได้รับอาหารมื้อหลัก 3 มื้อต่อวัน และอาจเพิ่มมื้อเสริมด้วยนมที่มีสารอาหารสมอง เช่น DHA, กรดไขมันธรรมชาติ Omega 3 6 9 หรือมีสฟิงโกไมอีลิน โดยในช่วงวัยนี้ควรเริ่มหัดให้ลูกเลิกดูดนมจากขวด แล้วเปลี่ยนมาดื่มนมจากแก้วน้ำแทน เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุ เป็นต้น
แต่ที่สำคัญที่สุดคือการจัดแจงให้ภายใน 3 มื้อหลักของลูกมีสารอาหารที่หลากหลาย ครบถ้วน และเพียงพอต่อความต้องการของลูก และควรดัดแปลงจากมื้ออาหารปกติของผู้ใหญ่เล็กน้อย โดยการทำให้มีชิ้นเล็กลง อ่อนนุ่มมากขึ้น เคี้ยวง่าย รสไม่จัด ที่สำคัญ ต้องปรุงสุกเสมอ และมีสัดส่วนของประเภทอาหารในมื้อนั้น ๆ เช่น มีแป้ง หรือข้าวประมาณ 1 ทัพพี อาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ 1 – 1.5 ช้อนกินข้าว ควรมีไข่ประกอบมื้ออาหารเสมอ เลือกใช้น้ำมันพืชที่มีคุณค่าทางอาหารดี เช่น น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันรำข้าว เป็นต้น และอย่าลืมจัดเตรียมผักหลากหลายชนิดให้ลูกรับประทานอย่างสม่ำเสมอ และให้ผลไม้เป็นอาหารว่างควบคู่กับนม ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป
แหล่งที่มาของสารอาหารสำคัญสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน
คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่าสารอาหารทั้ง 5 หมู่ อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของโภชนาการสำหรับเด็กที่ดีนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่บางครั้ง ขณะต้องลงมือประกอบอาหาร หรือคิดเมนูในแต่ละมื้อให้กับลูก อาจเกิดการลืม นึกไม่ออก หรือกังวลว่าจะดีกับลูกหรือไม่ เราจึงอยากแนะนำแหล่งของสารอาหารต่าง ๆ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้
ไข่ หนึ่งในอาหารสารพัดประโยชน์ เป็นแหล่งของโปรตีนชั้นดี อุดมไปด้วย วิตามินเอ และแร่ธาตุที่มีประโยชน์เช่น ฟอสฟอรัส โดยคุณพ่อคุณแม่จะเลือกใช้ไข่ไก่ หรือไข่เป็ดก็ได้ทั้งคู่ แต่ต้องนำไปปรุงให้สุกเสมอ ไม่ควรให้ลูกกินไข่ยางมะตูม หรือไข่ลวกที่ยังกึ่งสุกกึ่งดิบ
เนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อไก่ หรือปลา เป็นต้น ล้วนแต่เป็นแหล่งที่มาสำคัญของโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามิน และธาตุสังกะสี โดยในเนื้อปลานั้น ยังเป็นแหล่งที่มาของกรดไขมันธรรมชาติ อย่างเช่น DHA และ Omega 3 ซึ่งมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของสมอง การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ให้ลูกนั้น ต้องปรุงให้สุกเสมอ
ตับ เป็นแหล่งของสารอาหารที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของลูก ประกอบไปด้วย ธาตุเหล็ก โปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 และ 2 คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกตับหมู หรือตับไก่เพื่อนำมาประกอบการทำอาหารให้ลูกได้ทั้งคู่ แต่ต้องนำมาปรุงให้สุกเสมอ
ผักหลากหลายชนิด เป็นแหล่งที่มาของวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งยังมีใยอาหาร ที่ช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกชนิดของผักให้หลากหลาย คละกันไปในแต่ละมื้อ เช่น ตำลึง แครอท ฟักทอง ผักบุ้ง เป็นต้น
ผลไม้ เช่น กล้วย มะละกอ ส้มเขียวหวาน แอปเปิล ล้วนแต่เป็นอาหารว่างที่ดีสำหรับเด็ก เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน รวมถึงแร่ธาตุที่มีประโยชน์ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไป เพราะในผลไม้มีปริมาณของน้ำตาลตามธรรมสูงเช่นเดียวกัน
นม เป็นอาหารที่ควรเสริมให้ลูกดื่มทุกวัน เพราะนมเป็นแหล่งของแคลเซียม และโปรตีน ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม เด็กในช่วงก่อนวัยเรียนมักมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น เลือกกินที่มากขึ้น หรือมีอารมณ์เบื่อเมนูเดิม ๆ เพราะในช่วงวัยนี้ พวกเขาจะสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น และมีความคิดเป็นของตัวเองสูงมากกว่าวัยทารก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแล และปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่ดี แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง ควบคู่กับการจัดเตรียมมื้ออาหารที่มีโภชนาการเหมาะสม ครบถ้วน เพื่อการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพของลูก แข็งแรง สมวัย พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ
บทความที่คุณอาจสนใจ
การกระตุ้นพัฒนาการเด็กก่อนวัยเรียน 1-3 ปี รอบด้าน คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร?
เล่นกับลูกอย่างไรให้พัฒนาการดี กิจกรรมเสริมทักษะเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 1-3 ปี มีอะไรบ้าง