เคล็ดลับการปั๊มนม ปั๊มนมอย่างไรให้ปลอดภัยและเกลี้ยงเต้า

คุณแม่กำลังปั้มนม ด้วยเครื่องปั้มนมไฟฟ้า

เคล็ดลับการปั๊มนม รวมถึงวิธีปั๊มนมให้ปลอดภัยและเกลี้ยงเต้า ที่นำมาฝากคุณแม่ในวันนี้ เป็นการรวบรวมคำตอบ จากข้อสงสัยที่คุณแม่มือใหม่หลายคนอยากทราบ ซึ่งตอบโจทย์ทั้งคุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูกเข้าเต้า คุณแม่ที่ต้องกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศ ซึ่งต้องปั๊มนมเก็บไว้ให้คุณย่าคุณยายช่วยป้อนนมให้ลูก ตลอดจนคุณแม่ที่ต้องการปั๊มนมเก็บเป็นสต๊อกไว้ให้ลูกมีน้ำนมแม่เพียงพอและนานเท่าที่ต้องการ

หากคุณแม่ทราบ เคล็ดลับการปั๊มนม และสามารถปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าได้ถูกวิธี ก็จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้คุณแม่มีปริมาณน้ำนมเพิ่มมากขึ้น มีนมมากเพียงพอให้ลูกกินอิ่ม และสามารถเก็บสำรองไว้สำหรับกรณีต่าง ๆ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดจึงจำเป็นต้องแยกจากแม่ ทารกเข้าเต้าโดยตรงไม่ได้เนื่องจากสุขภาพของแม่ไม่อำนวย แม่จำเป็นต้องหยุดให้นมเนื่องจากใช้ยา หรือแม่ต้องเข้ารับการรักษาที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำนมหรืออาจมีการปนเปื้อนสารอันตรายในน้ำนมแม่ เป็นต้น

แต่ไม่ว่าคุณแม่จะมีเหตุผลในการปั๊มนมอย่างไร สิ่งสำคัญที่คุณแม่จำเป็นต้องเรียนรู้ คือ วิธีการปั๊มนมอย่างถูกต้องและปั๊มให้เกลี้ยงเต้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกน้อยจะได้รับนมที่มีคุณภาพตราบนานเท่านาน โดย เคล็ดลับการปั๊มนม ที่คุณแม่ให้นมทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ มีดังนี้

เทคนิคปั๊มนมให้ปลอดภัยและเกลี้ยงเต้า

ในบทความนี้เราจะแนะนำทั้งการปั๊มด้วยมือ เนื่องจากยังมีคุณแม่หลายคนที่ใช้วิธีนี้อยู่ และการปั๊มโดยใช้เครื่องปั๊ม เพราะในปัจจุบันคุณแม่นิยมใช้มากกว่า ซึ่งการปั๊มนมทั้ง 2 แบบ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

เคล็ดลับการปั๊มนมด้วยมือ

วันหมดอายุของนมแม่
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนเริ่มปั๊มนมเสมอ
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณเต้านมประมาณ 5 นาที จะช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
  • อาจนวดหรือคลึงบริเวณเต้านมเบา ๆ ด้วยนิ้วมือ โดยเริ่มจากด้านนอก และนวดวนเข้าหาหัวนม
  • จากนั้นนั่งลงแล้วเอนตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย พร้อมกับให้คุณแม่วางนิ้วโป้งเหนือหัวนม นิ้วชี้อยู่ด้านใต้หัวนม ให้นิ้วทั้งสองห่างจากลานหัวนมประมาณ 1 นิ้ว โดยมือควรอยู่ในลักษณะรูปตัว C หรือตัว U
  • กดนิ้วทั้งสองลงไปพร้อมกันช้า ๆ เพื่อบีบน้ำนมออกมา หากยังไม่ออก ให้ค่อย ๆ ปรับทิศทางจนน้ำนมไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง
  • หาภาชนะที่สะอาดรองรับน้ำนม เช่น ขวดนมที่ผ่านการต้มหรืออบฆ่าเชื้อแล้ว เป็นต้น
  • บีบน้ำนมออกจนเกลี้ยงเต้าทั้ง 2 เต้า
  • การเก็บน้ำนมควรปิดฝาขวดให้มิดชิด ควรแบ่งเก็บในปริมาณเพียงพอต่อการทานใน 1 มื้อ ต้องเขียนระบุวันและเวลาในการปั๊มนม ลงบนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เก็บนมทุกครั้ง

ข้อควรระวัง คือ ขณะบีบนมไม่ควรใช้นิ้วรูดไปตามผิวหนังบริเวณเต้านม เพราะจะทำให้ผิวหนังระคายเคือง หรือมีแผลถลอก ไม่ควรกดหรือบีบหัวนม เพราะนอกจากน้ำนมจะไม่ออกแล้ว ยังอาจทำให้หัวนมแตกเป็นแผลได้

เครื่องปั้มนมไฟฟ้า

เคล็ดลับการปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มนม

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนเริ่มปั๊มนมเสมอ
  • ครอบกรวยสำหรับปั๊มนมบนเต้านม โดยให้กึ่งกลางของกรวยอยู่ตรงกลางหัวนมพอดี
  • ให้คุณแม่ค่อย ๆ ประคองเต้านมด้วยมือข้างเดียว โดยให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือประคองอยู่ด้านใต้เต้านม และระมัดระวังอย่าออกแรงกดหัวนมกับกรวยมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดรอยแดงช้ำบริเวณเต้านมได้
  • ในช่วงแรกควรใช้ความเร็วมากแต่อัตราการปั๊มต่ำ เมื่อน้ำนมไหลในปริมาณคงที่แล้วจึงค่อย ๆ ปรับความเร็วให้ช้าลงแต่เพิ่มอัตราการปั๊มมากขึ้น (ทั้งนี้ให้อิงจากคู่มือการใช้งานเครื่องปั๊มนมนั้น ๆ เป็นหลัก)
  • ในการปั๊มควรใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที เมื่อปั๊มจนเกลี้ยงเต้าแล้ว ค่อย ๆ นำกรวยเต้าสำหรับปั๊มนมออกจากเต้านม และนำน้ำนมที่ได้บรรจุใส่ขวดนมหรือถุงเก็บนม เขียนระบุวันและเวลาที่ปั๊มนม ก่อนนำไปแช่ตู้เย็น
  • ทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมตามคู่มือการใช้ ควรเก็บอุปกรณ์ให้มิดชิดเพื่อป้องกันเชื้อโรคและปนเปื้อนสิ่งสกปรกหลังทำความสะอาดแล้ว

เครื่องปั๊มนม จำเป็นแค่ไหน?

ที่ปั้มนมแม่

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเครื่องปั๊มนม เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้คุณแม่ปั๊มนมได้สะดวกและเกลี้ยงเต้ายิ่งขึ้น โดยในท้องตลาดมีเครื่องปั๊มนมให้เลือก 2 ชนิด คือ เครื่องปั๊มนมธรรมดา และเครื่องปั๊มนมไฟฟ้า

  • เครื่องปั๊มนมธรรมดา เป็นที่ปั๊มนมชนิดใช้มือบีบ ราคาถูก มีขนาดเล็ก เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องการปั๊มนมเป็นครั้งคราว แต่ไม่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีเวลาปั๊มนมจำกัด หรือคุณแม่ที่ต้องปั๊มนมปริมาณมาก เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการปั๊มนมแต่ละครั้งค่อนข้างนาน
  • เครื่องปั๊มนมไฟฟ้า มีราคาสูงกว่าแบบธรรมดา แต่ใช้งานง่ายมาก ช่วยประหยัดเวลาในการปั๊มนมได้มาก ช่วยให้ได้ปริมาณนมมากกว่า เครื่องปั๊มชนิดนี้ มีให้เลือกใช้ทั้งแบบปั๊มทีละข้าง หรือปั๊มพร้อมกันทั้ง 2 ข้างอีกด้วย

วิธีเก็บรักษาน้ำนมไว้ได้ยาวนานและมีคุณภาพ

เมื่อคุณแม่ปั๊มนมเสร็จแล้วควรรีบเก็บในบรรจุภัณฑ์สำหรับเก็บน้ำนมแม่ทันที เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก หรือถุงเก็บน้ำนมพลาสติก โดยถุงเก็บน้ำนม ต้องเป็นชนิดปลอดสารบีพีเอ (BPA) มีความแข็งแรง ปิดสนิท ไม่รั่วซึมเมื่อโดนความเย็น หรือไม่เสียหายเมื่อนำไปอุ่นในเครื่องอุ่นนม สามารถบรรจุน้ำนมได้ประมาณ  60 – 120 มิลลิลิตร ต่อ 1 บรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นปริมาณมาตรฐานที่ลูกกินอิ่มใน 1 มื้อ หากลูกทานไม่หมด น้ำนมที่ปนเปื้อนน้ำลายแล้วต้องทิ้งทันที ไม่สามารถนำกลับมาให้ลูกทานได้ เพราะนมอาจจะเสีย หรือมีคุณภาพลดลงได้  

แช่นมแม่ในตู้เย็น

ระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่ ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บรักษา ดังนี้

  •  ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส เก็บรักษาได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
  •  ในกระเป๋าเก็บความเย็นที่มีถุงน้ำแข็ง เก็บรักษาได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
  • ในตู้เย็นช่องปกติ เก็บรักษาได้ประมาณ 3 – 5 วัน
  •  ในช่องแช่แข็ง (ตู้เย็นประตูเดียว) เก็บรักษาได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์
  • ในช่องแช่แข็ง (ตู้เย็น 2 ประตู) เก็บรักษาได้ไม่เกิน 3 เดือน
  • ในช่องแช่แข็ง (ที่มีอุณหภูมิ -19 องศาเซลเซียส) เก็บรักษาได้ไม่เกิน 6 – 12 เดือน

ข้อควรระวังในการนำนมแม่ในช่องแช่แข็งมาให้ลูกรับประทาน 

การเก็บนมในช่องแช่แข็ง เป็นวิธีช่วยให้เก็บนมแม่ได้นาน และคงคุณประโยชน์คงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ครบถ้วน แต่ก็มีข้อควรระวังในเรื่องการละลายนมที่นำออกมาจากช่องแช่แข็ง หากทำผิดวิธีก็อาจทำให้นมแม่สูญเสียคุณภาพได้ การละลายนมแม่อย่างถูกต้อง ควรปฏิบัติดังนี้  

  • ก่อนนำนมออกมาอุ่นให้ลูกทาน ควรย้ายจากช่องแช่แข็งมาไว้ในช่องตู้เย็นปกติก่อนทุกครั้ง
  • ควรแกว่งถุงบรรจุนมเบา ๆ ในน้ำอุ่น และหลีกเลี่ยงการละลายนมในน้ำร้อนจัด เพราะจะทำให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการไปอย่างน่าเสียดาย 
  • ไม่ควรอุ่นนมแม่ด้วยเตาไมโครเวฟ เพราะนอกจากจะทำลายสารอาหารที่มีประโยชน์ในน้ำนมแล้ว อุณหภูมินมจะสูงขึ้นจนทารกไม่สามารถรับประทานได้ทันที
  • นมแม่ที่ผ่านการอุ่นแล้ว จะอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และนำกลับไปแช่ตู้เย็นได้อีกไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ไม่อาจนำกลับไปแช่แข็งได้อีกครั้ง เพราะจะทำให้นมเสื่อมคุณภาพ

Ref. 1, 2, 3, 4, 5