อาหารทารก วัยแรกเกิด – 12 เดือน กินอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ?

12 อาหารสำหรับเด็กแรกเกิด

คุณแม่มือใหม่จำนวนมาก ขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงดูลูกรัก จึงทำให้ไม่แน่ใจว่า ควรดูแลโภชนาการของทารกในแต่ละช่วงวัยแบบไหนดี ลำพังการหาข้อมูลทั่วไป หรือปรึกษาคุณย่าคุณยาย ต่างก็ได้รับคำแนะนำที่แตกต่างไปไม่ซ้ำกัน

อาหารทารก ในแต่ละช่วงวัย เป็นสิ่งที่คุณแม่มือใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้ และศึกษาอย่างจริงจัง เพราะร่างกายของทารกตัวน้อยในวัยแรกเกิด – 1 ปี ย่อมมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และเสริมสร้างระบบประสาทและสมอง ให้มีศักยภาพสมวัย

อาหารทารก วัยแรกเกิด – 12 เดือน ซึ่งเป็น อาหารมื้อแรกของลูก ควรประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ และมีปริมาณต่อวันตามคำแนะนำ ดังนี้

  • เมนูลูกรักวัยแรกเกิด – 6 เดือน 
คุณแม่วัยสาวกำลังให้นมลูก

อาหารที่เหมาะสำหรับทารกในช่วงวัยนี้ คือ นมแม่ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ทารกวัยต่ำกว่า 6 เดือน ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำเลยสักหยด เพราะนอกจากในนมแม่จะอุดมด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูกรัก อย่าง โปรตีน และไขมันที่ดีต่อร่างกาย ทั้งยังมีสารสร้างภูมิคุ้มกันที่ช่วยปกป้องลูกรักจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แล้ว นมแม่ยังประกอบไปด้วยน้ำจำนวนมาก เด็กที่กินนมแม่จึงมีร่างกายแข็งแรง ขับถ่ายง่าย และมีแนวโน้มฉลาดกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง

  • เมนูลูกรักวัย 6 เดือน

เมื่อก้าวเข้าสู่เดือนที่ 6 ทารกน้อยที่กินนมแม่มาตั้งแต่เกิดก็ถึงเวลาต้องเพิ่มสารอาหารที่เหมาะกับการเจริญเติบโต คุณแม่สามารถเสริมอาหารนอกเหนือจากนมแม่ได้ 1 มื้อเล็ก ๆ โดยเริ่มจากข้าวบดละเอียด ผสมกับนมแม่ ผักใบเขียว น้ำต้มผัก ไข่แดง เนื้อสัตว์ หรือตับบด สิ่งสำคัญคือ ไม่จำเป็นต้องปรุงรสใด ๆ เพราะเด็กเล็กไม่ควรถูกปลูกฝังให้ทานอาหารที่มีรสชาติแตกต่างจากธรรมชาติตั้งแต่มื้อแรกของชีวิต 

ปริมาณอาหารเสริมที่ทารกวัยนี้ควรได้รับต่อวัน ได้แก่

  • อาหารเสริมตามวัย 1 มื้อเล็ก ๆ + ทานนมเป็นอาหารหลัก
  • ข้าวบดประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ + ไข่แดงต้มสุก ½ ฟอง
  • ตับบด 1 ช้อนโต๊ะ
  • ปลาบด 1 ช้อนโต๊ะ
  • ผักสุกบด ½ ช้อนโต๊ะ
  • เหยาะน้ำมันพืช ½ ช้อนชา 
  • ผลไม้สุก เช่น มะละกอสุก กล้วยน้ำว้าสุก มะม่วงสุก หรือส้ม 1 – 2 ชิ้น
  • เมนูลูกรักวัย 7 – 8 เดือน

ช่วงวัยนี้ลูกรักทานอาหารเสริมได้มากขึ้น และยังสามารถบดเคี้ยวอาหารได้ละเอียดขึ้นกว่าเดิม เนื้อสัมผัสของอาหารจึงไม่จำเป็นต้องบดละเอียดอีกต่อไป เพื่อฝึกฝนทักษะการบดเคี้ยวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังให้ลูกรับประทานอาหารเสริมวันละ 1 มื้อ โดยอาหารที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ คือ ข้าวบดหยาบ ไข่ เนื้อปลา เนื้อไก่ หรือเนื้อหมู ผักนึ่งสุกบดหยาบ (แนะนำให้สลับชนิดของผักให้ไม่ซ้ำกัน) น้ำต้มผักหรือน้ำต้มกระดูก และปิดท้ายด้วยผลไม้สุกหลังมื้ออาหาร

ปริมาณอาหารเสริมที่ทารกวัยนี้ควรได้รับต่อวัน ได้แก่

  • อาหารเสริมตามวัย 1 มื้อ + ทานนมเป็นอาหารหลัก
  • ข้าวบดหยาบ 4 ช้อนโต๊ะ
  • ไข่สุก 
  • เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ 
  • ผักสุกบด 1 – 2 ช้อนโต๊ะ
  • เหยาะน้ำมันพืช ½ ช้อนชา 
  • ผลไม้สุก 2 – 3 ช้อนโต๊ะ
  • ผลไม้ 2 ชิ้น
  • เมนูลูกรักวัย 9 – 10 เดือน
เด็ก 1 ขวบกำลังกินอโวคาโด

เจ้าตัวเล็กวัยนี้ทานอาหารที่มีเนื้อสัมผัสใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ได้แล้ว หากทานข้าวสวยก็ไม่จำเป็นต้องบดอีกต่อไป ในขณะที่เป็นเนื้อสัตว์หรือผักสุกที่มีความเหนียวและแข็ง ยังจำเป็นต้องฉีกหรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารติดคอจากการเคี้ยวไม่ละเอียด โดยอาหารที่ลูกควรรับประทานเหมือนกับช่วงวัยก่อนหน้านี้เลย เพียงแต่เพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็น 2 มื้อต่อวัน แล้วปิดท้ายมื้อด้วยผลไม้กากใยสูง

ปริมาณอาหารเสริมที่ทารกวัยนี้ควรได้รับต่อวัน ได้แก่

  • อาหารเสริมตามวัย 2 มื้อ + ดื่มนมควบคู่กันไป
  • ข้าวสุกนิ่มประมาณ 5 ช้อนโต๊ะ
  • ไข่สุก
  • เนื้อสัตว์สุก ฉีกหรือหั่นพอดีคำ 2 ช้อนโต๊ะ
  • ผักสุกหั่นพอดีคำ 2 ช้อนโต๊ะ
  • เหยาะน้ำมันพืช ½ ช้อนชา 
  • ผลไม้หั่นพอดีคำ 3 – 4 ชิ้น
  • เมนูลูกรักวัย 10 – 12 เดือน

เรียกได้ว่าเบบี๋เมื่อหลายเดือนก่อนได้เติบโตเป็นเด็กน้อยวัยซนแล้ว ลูกรักวัยนี้ทานอาหาร 3 มื้อแบบผู้ใหญ่ได้แล้ว และดื่มนมเป็นอาหารเสริม ซึ่งคุณแม่สามารถให้ลูกดื่มนมต่อเนื่องไปนานเท่าที่ต้องการ อาหารที่ลูกรับประทานควรมีความหลากหลาย หมุนเวียนเปลี่ยนเมนูกันไปในแต่ละมื้อ ควรมีสารอาหารครบ 5 หมู่ และทานผลไม้ที่มีกากใยสูงปิดท้ายมื้อเป็นประจำทุกวัน

ปริมาณอาหารเสริมที่ทารกวัยนี้ควรได้รับต่อวัน ได้แก่

  • อาหารเสริมตามวัย 3 มื้อ + ดื่มนมควบคู่กันไป
  • ข้าวสุกนิ่มประมาณ 6 ช้อนโต๊ะ
  • ไข่สุก
  • เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้น 3 ช้อนโต๊ะ
  • ผักสุกหั่นเป็นชิ้น 3 ช้อนโต๊ะ
  • เหยาะน้ำมันพืช ½ ช้อนชา
  • ผลไม้ 4 – 5 ชิ้น

ข้อควรทราบก่อนเลือกอาหารเสริมตามวัยให้ลูกรัก

เด็กผู้หญิงกำลังหยิบอาหารจากถาดอาหาร
  • ลูกรักจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่มีความหลากหลาย ดังนั้น จึงไม่ควรให้ลูกทานอาหารแบบเดียวกันซ้ำกับทุกวัน เพราะนอกจากจะทำให้ลูกเบื่อจนไม่ยอมทานข้าวแล้ว ยังอาจทำให้ลูกขาดสารอาหาร และมีความเสี่ยงแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ อีกด้วย
  • การเลือกผักผลไม้ ควรเริ่มต้นจากชนิดที่ไม่มีรสชาติหวานจัดจนเกินไป โดยอาจเริ่มจากผักสีเขียวและสีส้ม อย่าง ตำลึง ผักบุ้ง ผักกาดขาว ฟักทอง แครอท ก่อนในช่วงมื้อแรกของชีวิต จากนั้นจึงค่อย ๆ เปลี่ยนให้ลูกลิ้มลองผักผลไม้ที่มีรสชาติอื่น ๆ เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ส้ม แอปเปิลเขียว เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแหล่งของแร่ธาตุ วิตามิน ใยอาหาร ที่จำเป็นต่อร่างกาย และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ
  • การเลือกเนื้อสัตว์ สามารถหมุนเวียนไปตามต้องการ เล่น ปลา หมู ไก่ และตับ แต่ต้องผ่านการปรุงสุก และหลีกเลี่ยงการปรุงแต่งรสชาติให้มากที่สุด 
  • การเสริมนมสำหรับลูกวัย 1 ปีขึ้นไป คุณแม่สามารถให้ลูกดื่มนมแม่ได้นานเท่าที่ต้องการ หรือจะเสริมเป็นนมวัวรสจืดสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป ก็ได้เช่นกัน
  • การเติมน้ำมันพืชลงไปในอาหาร ควรใช้น้ำมันพืชคุณภาพสูง เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง เพื่อช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน เพิ่มกรดไขมันจำเป็น และเสริมพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน
  • ไม่ควรปรุงแต่งรสชาติใด ๆ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และมีไขมันสูง ซึ่งการปรุงรสชาติด้วย น้ำตาล น้ำผึ้ง เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ผงปรุงรส ผงชูรส หรือใช้น้ำมันมากเกินไป จะทำให้ลูกเสี่ยงต่อโรค NCDs เช่น โรคอ้วน เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
  • ดื่มน้ำสะอาดทุกวัน ให้ได้วันละ 6 – 8 แก้ว หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหวานจัด มีน้ำตาลสูง คาเฟอีนสูง เช่น น้ำอัดลม ชาไข่มุก น้ำผลไม้เติมน้ำตาล เป็นต้น
  • ขนมสำหรับเด็ก ควรเป็นขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ควรประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ทางที่ดี เด็ก ๆ ควรทานผักและผลไม้มากกว่าทานขนมกรุบกรอบเป็นประจำ

ข้อแนะนำในการฝึกวินัยในการรับประทานอาหารสำหรับลูกรัก

ผู้ใหญ่กำลังป้อนอาหารให้กับเดเ็กทารก

คุณพ่อคุณแม่ คือ ต้นแบบการใช้ชีวิตของลูก หากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนเลือกกิน เขี่ยผักออกทุกครั้งที่เจอ ลูกก็จะปฏิเสธการกินผักเช่นเดียวกับพ่อแม่ การปลูกฝังพฤติกรรมและวินัยในการรับประทานอาหาร สามารถเริ่มได้ตั้งแต่มื้อแรกของลูก นอกจากการเลือกให้ลูกรับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการ และไม่ปรุงแต่งรสชาติจนเกินพอดีแล้ว ยังควรฝึกให้ลูกทานอาหารตรงเวลา นั่งทานในที่ประจำ และไม่ควรทำกิจกรรมอื่นระหว่างมื้อ เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือวิ่งเล่นไปมา เมื่อลูกเริ่มทานอาหารเองได้ ก็ลองฝึกให้ลูกหยิบผักที่หั่นเป็นชิ้น ๆ ทานด้วยตัวเอง หรือใช้ช้อนคันเล็ก ๆ ตักข้าวทานเอง รวมทั้งหัดให้ลูกดื่มจากแก้วหัดดื่มด้วยตัวเอง เมื่อลูกสามารถดูแลตัวเองได้ และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ก็จะช่วยให้ลูกมีสุขภาพดีติดตัวไปตลอดชีวิต

บทความที่คุณอาจสนใจ

อัปเดต วัคซีนพื้นฐาน 2565 สำหรับลูกรักที่พ่อแม่ต้องรู้

เช็กพัฒนาการทารก วัยแรกเกิด – 1 ปี

เคล็ดลับการปั๊มนม ปั๊มนมอย่างไรให้ปลอดภัยและเกลี้ยงเต้า

Ref. 1, 2, 3, 4, 5