สมองของลูกวัยขวบปีแรก มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หากได้รับการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะกับวัย มีส่วนช่วยให้ลูกรักในขวบปีแรกมีพื้นฐานการเรียนรู้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม
“เพราะการเล่น คือ งานของเด็ก” ดังนั้น การเลือก กิจกรรมเสริมพัฒนาการลูก ในวัยแรกเกิด – 12 เดือน จำเป็นต้องคัดสรรให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัย เช่นเดียวกันกับการเลือก ของเล่นเด็กเสริมพัฒนาการ ก็ต้องมีความยากง่ายแตกต่างกันตามช่วงวัย เพื่อให้ลูกรักรู้สึกมีความสุขกับของเล่น และสนุกสนานกับกิจกรรมกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ มองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รับรู้รสชาติ และการสัมผัส ได้อย่างเต็มที่
กิจกรรมเสริมพัฒนาการลูก และของเล่นที่เหมาะกับเด็กแต่ละวัย
ลูกวัยแรกเกิด – 3 เดือน
ควรเลือกกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างระบบประสาทและการมองเห็น เพราะเด็กวัยนี้จะมองเห็นชัดเจนได้แค่ระยะไม่ไกลมาก ลูกจึงชอบจ้องใบหน้าคุณพ่อคุณแม่ หรือของเล่นสีสดเป็นเวลานาน นอกจากนี้ เบบี๋ยังหูไวมาก การเขย่าของเล่นที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊งจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการฟังได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงเท่านี้ ทารกวัยไม่เกิน 3 เดือน ยังชอบใช้มือเล็ก ๆ ทั้ง 2 ข้าง ไขว่คว้าสัมผัสไปทั่ว เพื่อเป็นการสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวนั่นเอง
การเลือกของเล่นสำหรับลูกวัยแรกเกิด – 3 เดือน ควรเป็นของเล่นที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการรอบด้าน และมีความปลอดภัยสูง ไม่มีคม ผลิตด้วยวัสดุคุณภาพ ไม่เป็นอันตรายหากลูกเผลอนำของเล่นเข้าปาก เช่น โมบายสีสดใส ตุ๊กตาเขย่าแล้วมีเสียง ลูกบอลผ้าสีสดขนาดพอดีมือ เป็นต้น
ลูกวัย 4 – 5 เดือน
เบบี๋วัยนี้พัฒนาการด้านการมองเห็นดีขึ้นกว่าช่วงแรกแล้ว และเริ่มจดจำใบหน้าคุณพ่อคุณแม่ได้ เบบี๋จึงแจกยิ้มหวาน ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่เห็นอยู่เสมอ แขนและขาทั้งสองข้างของลูกมีความแข็งแรงขึ้นจนคว้าจับสิ่งของใกล้ตัวได้หนุบหนับ ชอบหยิบของเข้าปากแทบทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่เผลอ และแม้ว่าลูกจะแข็งแรงจนคืบไปหยิบของเล่นชิ้นที่ชอบซึ่งวางอยู่ไม่ไกลจากตัวได้ แต่ก็ยังไม่สามารถลุกขึ้นนั่งหลังตรงได้ด้วยตัวเอง การเล่นจึงยังอยู่ในท่านอนคว่ำหรือนอนหงายมากกว่า
ของเล่นสำหรับเด็กวัยนี้จึงยังคงเป็นของเล่นที่มีสีสดใส และมีเสียงดังเพื่อดึงดูดความสนใจลูกเป็นหลัก คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกหนังสือนิทานภาพสีสดใสมาอ่านให้ลูกฟัง ชวนเบบี๋โยนลูกบอลผ้าเสียงกรุ๊งกริ๊งเพื่อเรียกเสียงหัวเราะ หรือจะชวนกันเล่นง่าย ๆ แบบไม่ต้องใช้อุปกรณ์ อย่าง ชวนคุย เล่นปูไต่ เป่าพุง หรือเล่นจ๊ะเอ๋ ก็ช่วยกระตุ้นพัฒนาการรอบด้านได้ดีเช่นกัน
ลูกวัย 6 – 7 เดือน
ทารกวัยนี้เคลื่อนไหวเองได้คล่องแคล่วขึ้น เด็กบางคนสามารถยันตัวนั่งเองได้อย่างมั่นคง ใช้นิ้วมือหยิบจับสิ่งของได้อิสระมากขึ้น สายตาก็มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น ลูกจึงชอบสำรวจและรื้อค้นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วยความอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอ กิจกรรมที่เหมาะจะกระตุ้นทักษะด้านนี้ คือการชวนลูกมองภาพสะท้อนของตัวเองในกระจก ลูกจะตื่นเต้นกับการได้เห็นตัวเองอีกคนอยู่อีกด้านอย่างไม่มีเบื่อ นอกจากนี้ ลูกยังจดจำบุคคลใกล้ชิดได้แม่นยำ และเริ่มจำชื่อตัวเองได้แล้ว เมื่อเห็นคุณพ่อคุณแม่ หรือถูกเรียกชื่อ ก็จะยิ้มตอบ ส่งเสียงเป็นคำสั้น ๆ ง่าย ๆ แทนคำทักทาย พร้อมแสดงความดีใจทันทีที่มองเห็น การเรียกชื่อลูกซ้ำ ๆ เพื่อให้หันมาหา และการพูดคุยกับลูกเป็นประจำด้วยคำง่าย ๆ 2 พยางค์ ก็เป็นการเสริมทักษะทางการสื่อสารให้เจ้าตัวเล็กวัยนี้ได้เป็นอย่างดี
ของเล่นเสริมพัฒนาการลูกรักวัยนี้ ยังคงเป็นหนังสือภาพเล่มใหญ่ที่มีผิวสัมผัสที่หลากหลาย เพื่อให้ลูกได้จับและรับรู้ถึงพื้นผิวที่แตกต่าง หรือจะเลือกหนังสือนิทานลอยน้ำเอาไว้ให้ลูกเปิดดูภาพเล่นขณะอาบน้ำก็น่าสนใจไม่แพ้กัน นอกจากการชวนลูกเล่นกับเงาในกระจกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถเปิดเพลง ร้องเพลง ชวนกันปรบมือเป็นจังหวะ หรือเล่นหยอดวัตถุรูปทรงต่าง ๆ ลงกล่อง เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษา ฝึกสมาธิ ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ รวมทั้งยังช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและอารมณ์ดีได้อีกด้วย
ลูกวัย 8 – 9 เดือน
เบบี๋วัยนี้คลานได้คล่องแคล่วแล้วนะแม่ ดังนั้นจึงห้ามเผลอละสายตาจากลูกเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายกับลูกได้ ทางที่ดีจึงควรจัดพื้นที่รอบตัวลูกให้ปลอดภัย ห่างจากปลั๊กไฟ บันได เฟอร์นิเจอร์ หรือสิ่งของมีคมที่อาจทำให้ลูกบาดเจ็บจากการคว้าจับ คุณแม่อาจรู้สึกว่าลูกเริ่มซนมากขึ้น แต่ถ้าเราชวนลูกทำกิจกรรมเสริมพัฒนาการ ให้ลูกได้ใช้พละกำลังจากการฝึกฝนความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ได้เต็มที่ อย่าง การต่อบล็อกไม้ ตีระนาดเด็ก โยนลูกบอลยางลงกล่อง ก็จะลดความซุกซนลง และมีสมาธิมากขึ้น นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังชวนเด็กวัยนี้เล่นแฟลชการ์ด หรือบัตรคำศัพท์ ที่เป็นรูปสัตว์และสิ่งของ ก็จะช่วยฝึกสมอง ฝึกการมองเห็น และเพิ่มคลังคำศัพท์ให้ลูกไปพร้อม ๆ กัน
ของเล่นสำหรับลูกวัยซนมีมากมาย ทั้งของเล่นที่ช่วยกระตุ้นสมอง การมองเห็น และการใช้ภาษา อย่าง แฟลชการ์ด หนังสือนิทานภาพ บล็อกไม้รูปทรงเรขาคณิต ตัวต่อพลาสติก หรือจิ๊กซอภาพง่าย ๆ ของเล่นที่เหมาะให้ลูกปลดปล่อยพลัง เช่น ลูกบอลยาง เครื่องเล่นที่ต้องใช้พลังในการหมุน ดึง ตี เป็นต้น
ลูกวัย 10 – 12 เดือน
ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าช่วงก่อนหน้านี้ลูกซนมาก อยากบอกว่าความซนของจริงเริ่มจากเดือนนี้ต่างหาก เพราะเมื่อเจ้าตัวเล็กเริ่มคลานและเกาะยืนได้ ลูกจะไม่ยอมอยู่นิ่งให้คุณแม่ชวนเล่นอีกต่อไป กิจกรรมสำหรับลูกวัยนี้จึงต้องกระตุ้นให้ลูกเคลื่อนไหว เช่น โยนลูกบอล ไล่จับฟองสบู่ เล่นรถลาก นั่งม้าโยก เป่ากังหันลม ไล่จับ ซ่อนแอบ หรือจะฝึกให้ลูกรู้จักมีความรับผิดชอบด้วยการชวนกันรื้อและเก็บของเล่นใส่ตะกร้าหลังจากเล่นเสร็จแล้วก็เป็นไอเดียที่ดีมาก ๆ การพาลูกออกไปเล่นนอกบ้าน เช่น เดินเล่น ก่อกองทราย หรือชวนกันสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวพร้อมกับสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ นอกจากจะเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ให้แข็งแรงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะภาษาและเปิดโลกใบใหม่ให้ลูกได้ตื่นตาตื่นใจไปพร้อม ๆ กัน
ของเล่นสำหรับลูกวัยนี้มีให้เลือกมากมายหลายชนิด ทั้งบล็อกไม้รูปทรงเรขาคณิต ตัวต่อพลาสติก จิ๊กซอภาพ เครื่องดนตรี บ่อทราย ม้าโยก รถไถ รถลาก แฟลชการ์ด หนังสือภาพ และหนังสือนิทานแบบมีเสียง ก็ยังเป็นของเล่นที่เหมาะกับเด็กทุกวัย นอกจากนี้ การเล่นบทบาทสมมติ ยังช่วยฝึกทักษะทางความคิดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และกระตุ้นให้ลูกเกิดความคิดสร้างสรรค์ โดยคุณพ่อคุณแม่ยังเป็นเพื่อนเล่นที่มีบทบาทสำคัญลูกมาก ๆ เพราะจะช่วยปูพื้นฐานและเตรียมความพร้อมในการเข้าสังคมให้กับลูกในวัยขวบปีแรกได้เป็นอย่างดี
เคล็ด (ไม่) ลับ เลือกของเล่นชิ้นแรกให้ลูก
การเลือกของเล่นให้ลูกทุกชิ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นของเล่นราคาแพง แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องเป็นของเล่นที่ลูกเล่นแล้วสนุก มีความสุข และเหมาะกับพัฒนาการในช่วงวัยนั้น ๆ โดยลูกจะได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ได้ทั้งนั้น หากเกิดเหตุการณ์เลือกของเล่นมาแล้วลูกไม่ชอบ ไม่สนใจเล่น หรือเล่นแค่แป๊บเดียวแล้วไม่สนใจอีกเลย อย่าเพิ่งเสียใจ นั่นอาจเป็นเพราะลูกไม่รู้วิธีเล่นจึงเล่นไม่เป็น แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นฝ่ายชวนลูกเล่นก่อน ด้วยการจับมือลูกทำ หรือเล่นให้ดูอย่างสนุกสนาน แล้วลองให้ลูกทำตาม เมื่อลูกมั่นใจว่าทำได้ เขาจะรู้สึกสนใจ และกลับมาเล่นซ้ำบ่อยเท่าที่ต้องการ
เพื่อศักยภาพการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของลูกรัก คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสรรเวลาเล่นกับลูกอย่างน้อยวันละ 30 – 60 นาที เพราะนอกจากจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการรอบด้าน และกระชับความสัมพันธ์อันดีกับลูกแล้ว การได้หัวเราะกับลูกยังช่วยผ่อนคลายความเครียดจากเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องพบเจอมาตลอดวันได้อีกด้วย
บทความที่คุณอาจสนใจ
อาหารทารก วัยแรกเกิด – 12 เดือน กินอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ?
เช็กพัฒนาการทารก วัยแรกเกิด – 1 ปี