อัปเดต วัคซีนพื้นฐาน 2565 สำหรับลูกรักที่พ่อแม่ต้องรู้

เด็ก 1 ขวบ อยู่ในมือหมอ

การพาลูกเข้ารับ วัคซีนพื้นฐาน ประจำปี 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เด็กไทยทุกคนต้องได้รับ เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องปฏิบัติตามให้ตรงเวลาอย่างเคร่งครัด เพื่อกระตุ้นให้ลูกรักมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง เติบโตอย่างมีคุณภาพ ช่วยลดผลกระทบจากการเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิต ด้วยโรคติดต่อร้ายแรงต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัคซีนพื้นฐาน คือ วัคซีนที่เด็กทารกวัยแรกเกิด – 12 ปี จำเป็นต้องได้รับอย่างครบถ้วน ประกอบด้วยวัคซีนที่เน้นการป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญในระบบสาธารณสุขไทย โดยเด็กทุกคนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ทั้งในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐได้ฟรี หรือจะเลือกรับบริการในโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกเอกชน ที่คุณพ่อคุณแม่สะดวกก็ได้เช่นเดียวกัน

วัคซีนพื้นฐาน 2565 สำหรับลูกรักที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจก่อนว่า วัคซีน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

  • วัคซีนหลัก เป็นวัคซีนพื้นฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้รับการฉีดตามช่วงวัยต่าง ๆ ตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งอายุ 12 ปี 
  • วัคซีนเสริม เป็นวัคซีนทางเลือก ที่แม้กระทรวงสาธารณสุขจะไม่ได้กำหนดว่าต้องฉีด แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกให้ลูกเข้ารับวัคซีนต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ๆ เพิ่มมากขึ้น
เด็ก 1 ขวบกำลังฉีดวัคซีน

โดย วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กทารกวัยแรกเกิด – 1 ปี มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ หากมีเจ็บป่วยก็จะมีอาการหนักกว่าเด็กโตที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงแล้ว ดังนั้น ทารกวัยต่ำกว่า 1 ปี จึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนครบทุกชนิด และตรงตามกำหนด เพื่อเสริมเกราะป้องกันโรคต่าง ๆ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB) ควรได้รับทันทีภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดนี้ได้ โดยควรได้รับอย่างน้อย 3 เข็ม ในช่วงแรกเกิด ช่วงอายุ 1-2 เดือน และช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป 
  • วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนกำลังลง ฉีดให้เด็กแรกเกิดบริเวณหัวไหล่ เพื่อป้องกันวัณโรคชนิดแพร่กระจาย รวมถึงวัณโรคเยื่อหุ้มสมองที่เกิดในเด็กเล็กได้อย่างสมบูรณ์ และป้องกันวัณโรคปอดในเด็กได้ประมาณร้อยละ 53 
  • วัคซีนโรต้า (Rota) ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสโรต้าที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงที่พบบ่อยในเด็กเล็ก และมีอาการรุนแรงมากในเด็กทารก – อายุต่ำกว่า 2 ปี ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนเชื้ออ่อนชนิดรับประทาน โดยวัคซีนครั้งแรกต้องให้ก่อนอายุ 15 สัปดาห์ และห้ามให้วัคซีนครั้งสุดท้ายในเด็กอายุมากกว่า 32 สัปดาห์
  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ (DTP-HB-Hib) เริ่มฉีดเมื่อลูกอายุ 2 4 และ 6 เดือน อาจมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนประมาณ 48 ชั่วโมง คือ ไข้สูง ร้องกวน ตัวอ่อนปวกเปียก คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด
  • วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV) และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) ใช้ในการป้องกันเชื้อโปลิโอทั้ง 3 สายพันธุ์ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเด็ก 2 เดือนต้องได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV) เป็นอันดับแรก เมื่ออายุได้ 4 เดือน ต้องได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV) ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) และหลังจากนั้นจะได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) ในช่วงอายุ 6 เดือน 1 ปี 6 เดือน และครั้งสุดท้ายตอนอายุ 4 ปี
  • วัคซีนป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) แนะนำให้เริ่มฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 9 เดือน – 1 ปี เพราะถ้าฉีดเร็วเกินไปจะไม่สามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเหมาะสม และสามารถฉีดเข็มสองเมื่ออายุ 2 ปี 6 เดือน
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live-JE) ปัจจุบันใช้เป็นวัคซีนชนิดเชื้ออ่อน เริ่มฉีดเข็มแรกให้ลูกเมื่ออายุ 9 เดือน – 1 ปี และฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกครั้งหลังจากฉีดเข็มแรก 1 – 2 ปี ซึ่งหลังฉีดวัคซีนลูกอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปวด บวม แดง ตัวร้อน มีไข้ ลมพิษ ปวดศีรษะ หรือ มีภาวะสมองอักเสบเฉียบพลันได้
คุณแม่กำลังอุ้มลูก

นอกจากวัคซีนพื้นฐานข้างต้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังพิจารณาให้ลูกเสริมภูมิต้านทานลูกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยวัคซีนทางเลือก เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกล้ำ (IPD) วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก เป็นต้น โดยผู้ปกครองสามารถขอรับคำปรึกษาหากต้องการเสริมวัคซีนทางเลือกจากผู้เชี่ยวชาญ ถึงความจำเป็นเฉพาะบุคคล ซึ่งวัคซีนแต่ละชนิดจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแตกต่างกันไป

ข้อควรทราบ

  • หากผู้ปกครองลืมนัดรับวัคซีนของลูก หรือไม่สามารถพาลูกไปรับวัคซีนได้ตามกำหนด สามารถพาลูกมารับวัคซีนได้ทันทีที่สะดวก โดยไม่ต้องเริ่มนับใหม่ตั้งแต่แรก
  • ในกรณีที่วัคซีนชนิดนั้น ๆ ต้องรับมากกว่า 1 ครั้ง ผู้ปกครองควรดูแลให้ลูกได้รับวัคซีนครบตามกำหนด ตั้งแต่แรกเกิด – อายุ 12 ปี
  • ภายหลังจากรับวัคซีน อาจพบมีอาการข้างเคียงมากหรือน้อยตามแพทย์แนะนำ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกมีอาการไม่พึงประสงค์ หรือประเมินแล้วว่าอาการเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อลูก ควรพาลูกมาพบแพทย์ทันที
  • เด็กไทยทุกคนมีสิทธิ์รับวัคซีนพื้นฐานครบถ้วนตามอายุ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 
  • ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนพื้นฐาน ฟรี ณ จุดบริการสาธารณสุขของรัฐ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลของรัฐ เป็นต้น

บทความที่คุณอาจสนใจ

เช็กพัฒนาการทารก วัยแรกเกิด – 1 ปี

ท่าให้นมลูก เรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรรู้ ก้าวแรกสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

กิจกรรมเสริมพัฒนาการลูก และเทคนิคเลือกของเล่นเด็กเสริมพัฒนาการ วัยขวบปีแรก

Ref. 1, 2, 3, 4