ขวบปีแรก ถือเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญกับลูกมาก เพราะนอกจากลูกจะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ รุดหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ผู้ปกครองยังจำเป็นต้องดูแลและกระตุ้นให้เด็กวัยนี้มีพัฒนาการที่ดีสมวัย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีศักยภาพต่อไปในอนาคต
ด้วยเหตุนี้เอง การหมั่นเช็กพัฒนาการทารกอยู่เสมอ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถติดตามดูว่าลูกรักมีพัฒนาการในแต่ละด้านสมบูรณ์ครบถ้วนตามวัยหรือไม่ โดยกุมารแพทย์ได้แนะนำวิธีสังเกตพัฒนาการของลูกรักในวัยขวบปีแรกที่คุณพ่อคุณแม่ทำตามได้ง่าย ๆ ในบทความด้านล่างนี้
เช็กพัฒนาการทารก และเคล็ดลับกระตุ้นพัฒนาการเด็ก วัยแรกเกิด – 1 ปี
การเช็กพัฒนาการลูก ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตพัฒนาการให้ครบทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ สติปัญญา ภาษาและการสื่อสาร อารมณ์และการเข้าสังคม การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ หากลูกมีพัฒนาการที่ดีก็จะเรียนรู้ได้ดีด้วยเช่นกัน
ทารกวัยแรกเกิด
แม้ว่าทารกวัยแรกเกิดจะชอบจ้องหน้าคุณแม่ตาแป๋ว แต่แท้จริงแล้วสายตาของเบบี๋วัยนี้สามารถโฟกัสวัตถุต่าง ๆ ได้ในระยะไม่เกิน 1 เมตรเท่านั้น ทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ขยับหน้ามาใกล้ ๆ ลูกจึงชอบสบตา และมองหน้ากันได้แบบไม่มีเบื่อ ส่วนการได้ยินของทารกมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ เมื่อคลอดออกมาจึงได้ยินเสียงรอบตัวได้ชัดเจน แต่มักมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงของผู้หญิงได้ดีกว่าเสียงผู้ชาย เนื่องจากจะคุ้นเคยกับเสียงของคุณแม่มาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ นอกจากนี้ ลูกยังสามารถเอียงคอไปมา และหันหน้าหาต้นเสียงได้ช้า ๆ
การกระตุ้นพัฒนาการ:
- สบตากับลูกบ่อย ๆ คอยพูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงอบอุ่น
- เรียกชื่อ หรือเขย่าของเล่นใกล้ ๆ ตัวลูกเพื่อกระตุ้นให้หันหน้าตามเสียง ทำได้ทั้งในท่านอนคว่ำและนอนหงาย
ทารกวัย 1 – 2 เดือน
กล้ามเนื้อคอของทารกในวัย 2 เดือนเริ่มแข็งแรงขึ้น ลูกจะพยายามชันคอด้วยตนเองเมื่อถูกอุ้มหรือยกศีรษะขึ้นขณะอยู่ในท่านอนคว่ำ เด็กวัยนี้ยังชอบเอามือเข้าปากอยู่เป็นประจำ ส่วนทักษะการพูดก็พัฒนาขึ้นมาก เบบี๋วัยนี้จะส่งเสียงอ้อแอ้ตอบโต้กับคุณพ่อคุณแม่หรือร้องไห้เมื่อรู้สึกหิว ไม่สบายตัว ง่วงนอน หรือต้องการบางสิ่งบางอย่าง ด้านพัฒนาการการมองเห็น ลูกสามารถมองตามวัตถุหรือใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่ได้ดีขึ้นกว่าช่วงเดือนแรกแล้ว และยังสามารถส่งยิ้มหวาน ๆ กลับมาให้เมื่อรู้สึกสนุกสนานหรือพอใจ
การกระตุ้นพัฒนาการ:
- กระตุ้นทักษะการมองเห็นด้วยการแขวนโมบายสีสดไว้บนเปล ห่างจากใบหน้าของลูกประมาณ 30 เซนติเมตร
- พูดคุยพร้อมกับจ้องตาลูก เพื่อช่วยเสริมสร้างทักษะการสื่อสารและการมองเห็น
- จับให้ลูกอยู่ในท่านอนคว่ำ แล้วถือของเล่นสีสดและมีเสียงผ่านหน้าไปมา เพื่อกระตุ้นให้ลูกหันหน้า ชันคอ และขยับแขนขาตาม
ทารกวัย 3 – 4 เดือน
กล้ามเนื้อคอของทารกวัยนี้แข็งแรงมากขึ้นจนสามารถตั้งคอได้ตรงและนิ่งในท่านั่ง เมื่อคุณพ่อคุณแม่พูดคุยด้วยลูกจะส่งเสียงตอบโต้ได้มากขึ้น สายตาก็มองเห็นชัดขึ้นจึงชอบหันหน้ามองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วยความอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา ส่วนกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวก็แข็งแรงขึ้นจนใช้ท่อนแขนดันหน้าอกพ้นพื้นในท่านอนคว่ำได้นานขึ้น กลิ้งตัวได้เล็กน้อย และใช้กล้ามเนื้อมือได้อย่างอิสระมากขึ้น แม้จะยังทำได้ไม่ดีนักแต่ก็ชอบคว้าจับสิ่งของเล็ก ๆ ดึงเข้าหาตัว พัฒนาการด้านอารมณ์ก็เด่นชัดขึ้นมาก ทำให้รอคอยได้นานขึ้น นอกจากนี้ยังยิ้มง่าย รู้จักเรียกร้องความสนใจ แสดงออกว่าชอบหรือไม่ชอบ และหยุดร้องไห้เมื่อได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ต้องการ
การกระตุ้นพัฒนาการ:
- อุ้มลูกนั่งพิงลำตัวของคุณพ่อคุณแม่แล้วชี้ชวนให้ดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
- เขย่าของเล่นให้ลูกหันตาม
- เปิดเพลงให้ฟัง เล่านิทานภาพ และพูดคุยกับลูกด้วยคำง่าย ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มคลังคำให้ลูกคุ้นเคย
ทารกวัย 5 – 6 เดือน
กล้ามเนื้อแขนของเบบี๋วัยนี้แข็งขึ้นจนสามารถใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างดันหน้าอกและท้องขึ้นพ้นพื้นในท่าข้อศอกเหยียดตรงได้แล้ว ทั้งยังชอบพลิกตัวสลับไปมาในท่านอนหงายและนอนคว่ำ ส่วนมือทั้งสองก็ไขว่คว้าหยิบจับทุกอย่างที่อยู่ในระยะเอื้อมถึงและหยิบสิ่งของเข้าปาก ทารกบางคนสามารถยันตัวขึ้นในท่านั่งได้เป็นเวลาสั้น ๆ นอกจากนี้ ลูกเริ่มรู้จักชื่อตนเอง จำคนรอบตัวได้ และยิ้มให้คนคุ้นเคยทันทีที่มองเห็น ชอบชวนคนใกล้ตัวเล่น และพยายามสื่อสารกลับด้วยคำที่ออกเสียงง่าย ๆ 1 – 2 พยางค์
การกระตุ้นพัฒนาการ:
- หาของเล่นขนาดพอดีมือและผลิตด้วยวัสดุที่ปลอดภัยต่อทารกเมื่อนำเข้าปากให้ลูกได้ฝึกเคลื่อนตัวไปคว้าจับ
- หมั่นเรียกชื่อลูก ชวนลูกพูดคุยถึงสิ่งที่อยู่รอบตัว และอธิบายสิ่งที่ทำอยู่ให้ฟังด้วยคำง่าย ๆ เช่น อาบน้ำ กินนม เล่น เป็นต้น
ทารกวัย 7 – 8 เดือน
เจ้าตัวเล็กวัยนี้นั่งหลังตรงเองได้แล้ว สามารถเอี้ยวตัว หรือหมุนตัวไปหยิบสิ่งของได้ รู้จักชื่อตัวเองและหันตามต้นเสียงเมื่อถูกเรียกชื่อได้ทันที เริ่มสนใจหนังสือนิทานภาพ ชอบเล่นของเล่นสีสด ๆ หรือของเล่นที่มีพื้นผิวแตกต่างกันมากขึ้น ชอบสังเกตรอบ ๆ ตัว และชอบมองตามสิ่งของที่เคลื่อนไหว หยิบของได้ดีขึ้นและสลับสิ่งของจากมือหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งได้ดี ทักษะการสื่อสารพัฒนาขึ้นมาก ลูกพยายามเลียนเสียงของพ่อแม่ ชอบพูดคุย ชอบเล่นจ๊ะเอ๋ นอกจากนี้ เด็กวัยนี้ยังสามารถรับประทานอาหารนอกเหนือจากนมแม่ได้หลากหลายเมนูมากขึ้น
การกระตุ้นพัฒนาการ:
- ฝึกให้ลูกนั่งเอง โดยในช่วงแรกอาจใช้หมอนช่วยพยุงหลังให้ลูกนั่งตัวตรงได้ง่ายและนานขึ้น
- ชวนลูกมองตามสิ่งของที่กลิ้งอยู่หรือตกจากด้านบนสู่ด้านล่างเพื่อฝึกสายตา
- ชวนลูกสัมผัสวัตถุที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน พร้อมทั้งบอกให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่อยู่ในมือคืออะไร
- ชวนลูกเล่นจ๊ะเอ๋ ซ่อนตัวในผ้าห่ม เพื่อเรียนรู้การมีอยู่และหายไป
- เล่นขยำฝ่ามือ ปรบมือ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็ก
ทารกวัย 9 เดือน
เบบี๋ในวัยนี้จะเริ่มหัดคลาน แต่เด็กบางคนอาจข้ามขั้นไปเกาะเฟอร์นิเจอร์ในบ้านหรือคอกกั้นเพื่อพยุงตัวขึ้นยืน เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ รู้จักปฏิเสธ รู้จักวิธีชวนพ่อแม่เล่นกับตัวเอง ชอบตอบโต้กับคนใกล้ตัว แต่เมื่อเห็นคนแปลกหน้าจะกลัวและไม่กล้าเข้าใกล้ ใช้นิ้วมือและนิ้วชี้หยิบอาหารชิ้นเล็ก ๆ ทานได้ หยิบของเล่นมาเคาะเพื่อให้เกิดเสียงได้ และสนใจภาพในหนังสือนิทานมากขึ้นกว่าเดิม
การกระตุ้นพัฒนาการ:
- วางของเล่นไว้ไกลตัวเพื่อกระตุ้นให้ลูกคลานมาหยิบ
- หั่นผลไม้หรือผักเป็นแท่งยาว ๆ พอดีมือ เพื่อให้ลูกได้ฝึกการใช้นิ้วหยิบอาหารเข้าปาก
- ชวนลูกอ่านนิทานภาพ สอนให้ลูกพูดตามด้วยคำศัพท์สั้น ๆ ออกเสียงง่าย ๆ 1 – 2 พยางค์
- ให้ลูกเล่นของเล่นที่เคาะแล้วเกิดเสียง เช่น ระนาดเด็ก บล็อกไม้ ออร์แกน เป็นต้น
ทารกวัย 10 – 11 เดือน
ปรับความสว่างของภาพ
เด็กวัยนี้สามารถเกาะยืนได้มั่นคงขึ้น และอาจมีบางคนที่เริ่มตั้งไข่ได้ด้วยตัวเอง ด้านทักษะภาษา ลูกสามารถพูดคุยด้วยคำสั้น ๆ ที่มีความหมาย แม้ว่าอาจออกเสียงได้ไม่ชัดเจนหรือถูกต้องนัก คุณพ่อคุณแม่ต้องสื่อสารกับลูกด้วยคำที่ชัดเจน เพื่อปลูกฝังการใช้คำให้ถูกต้องตามหลักภาษานั้น ๆ ขณะทานอาหารลูกอาจแย่งช้อนจากแม่มาตักอาหารเข้าปากเอง แต่จะยังทำได้ไม่ดีนัก นอกจากนี้ ลูกยังฉายแววนักสำรวจตัวน้อย ด้วยการคลานและเกาะยืนไปทั่วบ้าน คุณแม่จึงควรเก็บสิ่งของที่เป็นอันตราย เช่น ปลั๊กไฟ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ในบ้านที่ตกแตกได้ ไว้ห่างจากมือลูกเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝัน
การกระตุ้นพัฒนาการ:
- จัดพื้นที่ให้ลูกเกาะยืน และฝึกตั้งไข่ ได้สะดวกและปลอดภัย
- ช่วยพยุงให้ลูกตั้งไข่ และปล่อยมือเมื่อลูกทรงตัวได้
- พูดคุย เล่านิทาน ชวนกันร้องเพลง เพื่อเติมคลังคำศัพท์เป็นประจำทุกวัน
- เปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกของที่อยากเล่น นิทานที่อยากอ่าน หรือเล่นในจุดที่สบายใจ โดยต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่เสมอ
- ให้ลูกได้หัดกินข้าวเอง แม้จะเปรอะหรือเลอะเทอะบ้าง แต่คุณแม่ก็สามารถเช็ดล้างออกได้ภายหลัง
ทารกวัย 12 เดือน
ลูกในวัย 1 ปี สามารถยืนเองได้มั่นคงขึ้น และเริ่มก้าวเดินได้สั้น ๆ 1 – 2 ก้าว เข้าใจภาษามากขึ้น ออกเสียงพูดคำที่มีความหมายได้ชัดเจนขึ้น เช่น พ่อ แม่ ยาย ย่า กิน ไป ไม่เอา จำคำพูดและท่าทางของผู้ใหญ่ พร้อมกับพยายามทำตามทันที เข้าใจหน้าที่ของสิ่งของต่าง ๆ มากขึ้น เช่น รู้ว่าหวีใช้หวีผม ช้อนใช้ตักข้าว จากการสังเกตการใช้งานของผู้ใหญ่ รู้จักการให้และรับ เช่น ยื่นของกินให้ ยื่นหนังสือนิทานให้อ่าน รู้จักการโบกมือบ๊ายบาย ส่งจูบ ยิ้มหวาน และใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีขึ้น หยิบสิ่งของชิ้นพอดีมือได้ถนัด รวมทั้งสามารถยกถ้วยหัดดื่มขึ้นดื่มได้แล้ว
การกระตุ้นพัฒนาการ:
- สอนเรียกชื่อสิ่งของและอวัยวะต่าง ๆ โดยให้ลูกตั้งใจฟังและอ่านปากพ่อแม่ เพื่อช่วยให้ออกเสียงได้ง่ายขึ้น
- ฝึกลูกเรียนรู้วิธีการใช้งานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวลูก เช่น ช้อน แก้วน้ำ แปรงสีฟัน เป็นต้น
- พาลูกออกไปหัดเดินบนสนามหญ้า เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากก้าวเดินในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างออกไป
หากพบว่าในช่วงวัยนั้น ๆ ลูกมีพัฒนาการล่าช้าเกินกว่าที่ระบุไว้ คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งวิตกกังวลมากเกินไป เพราะอาจเกิดขึ้นจากความไม่พร้อมของลูก หรือการขาดการกระตุ้นที่เหมาะสมของผู้ปกครอง วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ หันมาดูแลและเอาใจใส่ลูกให้มากขึ้น แต่ถ้าลูกยังมีพัฒนาการด้อยกว่าเด็กวัยเดียวกันมากผิดปกติ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปขอคำปรึกษาจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กโดยตรง เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุ รักษา และกระตุ้นพัฒนาการลูกให้กลับมาเป็นปกติได้ทันเวลา
บทความที่คุณอาจสนใจ
อัปเดต วัคซีนพื้นฐาน 2565 สำหรับลูกรักที่พ่อแม่ต้องรู้
อาหารทารก วัยแรกเกิด – 12 เดือน กินอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ?