อาหารในนมแม่ และประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เด็กทารกอยู่ที่อกแม่

นมแม่ คือ โภชนาการที่ดีที่สุดสำหรับทารก องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ คุณแม่หลังคลอด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพียงอย่างเดียว อย่างน้อย 6 เดือน และสามารถเสริมนมแม่ไปพร้อม ๆ กับการให้ลูกทานอาหารตามวัยได้จนอายุครบ 2 ปี หรือนานเท่าที่คุณแม่สะดวก

สารอาหารในนมแม่ ประกอบด้วยสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย เสริมสร้างระบบประสาทและสมอง รวมทั้งยังมีคุณสมบัติช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยลดโอกาสเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลด้วยโรคติดเชื้อ เช่น ทางเดินหายใจ ลำไส้ และผิวหนัง นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ได้อีกด้วย

สารอาหารในนมแม่ จะมีการแปรผันไปตามระยะของการผลิตน้ำนม ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของทารก รวมถึงระยะของการคลอดบุตรด้วย เช่น คลอดก่อนกำหนด หรือคลอดตามกำหนด เป็นต้น โดยระยะของการสร้างน้ำนม มีทั้งหมด 3 ระยะ ดังนี้

ทารกนอนบนแขนแม่และกำลังกินนมแม่
  1. น้ำนมระยะแรก หรือระยะหัวน้ำนม (Colostrum) อยู่ในช่วง 1 – 3 วันแรกหลังคลอด น้ำนมแม่จะมีสีเหลืองอ่อน มีความอุดมสมบูรณ์สูง ประกอบไปด้วย โปรตีน ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เกลือแร่ วิตามิน โดยเฉพาะวิตามิน A และ K เป็นต้น รวมทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยในการขับขี้เทาของทารก และลดภาวะตัวเหลืองของทารกแรกเกิด (Jaundice) เนื่องจากร่างกายมีสารสีเหลือง (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ
  2. น้ำนมระยะที่ 2 หรือระยะปรับเปลี่ยน (Transitional Milk) อยู่ในช่วง 5 – 10 หรือไม่เกิน 2 สัปดาห์หลังคลอด ซึ่งถือเป็นช่วงที่กระบวนการผลิตน้ำนมมีเป็นการปรับเปลี่ยนจากระยะหัวน้ำนมไปสู่ระยะน้ำนมแม่ น้ำนมจะมีสีขาวขุ่น มีสารอาหารกลุ่มไขมันและน้ำตาล ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกเพิ่มขึ้นกว่าน้ำนมในระยะแรก
  3. น้ำนมระยะที่ 3 หรือระยะน้ำนมแม่ (Mature Milk) อุดมด้วยสารอาหารจำเป็นต่อการเติบโตของลูกรัก ได้แก่ 
  • สารอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด ได้แก่ อิมมูโนโกลบิน (immunoglobulins) โปรตีนที่ช่วยต่อต้านเชื้อโรค เช่น  น้ำตาลโอลิโกแซคคาไรด์ (oligosaccharides) ไลโซไซม์ (lysozyme) เป็นต้น
  • โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ที่ช่วยเรื่องการเจริญเติบโตในร่างกาย เช่น epidermal growth factor, nerve growth factor, insulin-like growth factor เป็นต้น
  • กรดไขมันจำเป็น ได้แก่ DHA และ AA ที่จำเป็นต่อระบบประสาทและการมองเห็น รวมถึง Sphingomyelin ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างปลอกหุ้มเส้นใยประสาท ช่วยเชื่อมโยงการทำงานของเซลล์ประสาทในสมองแต่ละส่วนได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลของสมองให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการช่วยให้ลูกรักสามารถเรียนรู้อย่างมีศักยภาพ
  • สารอาหารที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร และฮอร์โมนต่าง ๆ
  • วิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 2 6 12 วิตามินดี วิตามินดี วิตามินเค และแร่ธาตุจำเป็น ได้แก่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม และไอโอดีน เป็นต้น

ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

นอกจากในนมแม่จะประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ป้องกันการติดเชื้อ การเจ็บป่วยต่าง ๆ ช่วยเสริมสร้างระบบประสาทและสมองของลูกรักให้สมบูรณ์ทำงานได้เต็มศักยภาพแล้ว นมแม่ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาด้านการเรียนรู้ และอารมณ์ของลูกรักได้อย่างดีเยี่ยม

คุณแม่กำลังจ้องดูลูกตอนนอน

โดยผลวิจัยพบว่า ทารกที่กินน้ำนมแม่มีการพัฒนาความสามารถทางสมองดีกว่าทารกที่ไม่ได้กินน้ำนมแม่ ทั้งในระยะเด็กเล็กและระยะผู้ใหญ่ งานวิจัยยังเผยอีกว่า ทารกที่กินนมแม่อย่างต่อเนื่องมีโอกาสในด้านพัฒนาการทางสมองและเชาวน์ปัญญา (IQ) ที่ดีกว่าเด็กที่กินนมผสม โดยสามารถวัดได้เมื่อเด็กโตขึ้นและกำลังเข้าสู่วัยเรียน นอกจากนี้สารอาหารและวิตามินจากน้ำนมแม่ยังช่วยให้พัฒนาการของสมองเด็กและเซลล์ประสาททำงานได้อย่างสมบูรณ์ จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่คือก้าวแรกที่สำคัญของลูกรัก ที่จะช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้อย่างมีศักยภาพต่อไปในอนาคต

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังสอดคล้องกับพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูก เพราะขณะที่ลูกดูดนมแม่จะได้รับการตอบสนองที่อบอุ่น นุ่มนวล อบอวลด้วยความรักความใส่ใจ เกิดเป็นสายใจรักและความผูกพันของแม่ลูก ผ่านการสัมผัส การโอบกอด การพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยความรัก ช่วยให้ทารกรู้สึกปลอดภัย เกิดความมั่นใจ และมีความมั่นคงทางอารมณ์สูงกว่าเด็กทารกที่ไม่ได้เข้าเต้าดูดนมแม่ ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ การมีความคิดสร้างสรรค์ และมีความฉลาดทางอารมณ์

Ref. 1, 2, 3