วิธีนวดกระตุ้นน้ำนม แก้ปัญหาน้ำนมน้อย สำหรับคุณแม่ให้นมบุตร

วิธีนวดกระตุ้นน้ำนม

เรื่องหนักอกหนักใจหลัก ๆ ของคุณแม่ให้นมบุตรทุกคน ล้วนหนีไม่พ้น ปัญหาน้ำนมน้อย ซึ่งถ้าหากคุณแม่ทราบเกี่ยวกับ เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่ ด้วย วิธีนวดกระตุ้นน้ำนม ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมได้มากเท่าที่ต้องการ

วิธีนวดกระตุ้นน้ำนม มีให้เลือกหลายกระบวนท่า แต่ก่อนจะไปเรียนรู้ท่าทางต่าง ๆ นั้น เราอยากให้คุณแม่ทราบถึงกลไกในการผลิตและหลั่งน้ำนมเสียก่อน

โดยขั้นตอนหรือ วิธีนวดกระตุ้นน้ำนม คือ หนึ่งในกระบวนการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมมากขึ้น เกิดจากการอาศัยความเข้าใจในกลไกการผลิตน้ำนมของร่างกาย ซึ่งกระบวนการผลิตน้ำนมแม่เริ่มต้นตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันคลอด ซึ่งในร่างกายของคุณแม่จะประกอบไปด้วยฮอร์โมนสำคัญ 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนโปรแลคติน และ ฮอร์โมนออกซิโทซิน มีบทบาทแตกต่างกัน คือ

  • ฮอร์โมนโปรแลคติน มีหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์น้ำนมผลิตน้ำนม ทำงานผ่านการถูกกระตุ้นจากบริเวณปลายประสาทบนหัวนมและลานนม ส่งผลให้ปริมาณโปรแลคตินในเลือดสูงขึ้นทันทีและยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากหยุดกระตุ้นไปแล้ว 30 นาที เพื่อให้มีการสร้างน้ำนมต่อไปสำหรับการดูดนมในครั้งหน้า
  • ฮอร์โมนออกซิโทซิน เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อบริเวณต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมมีการบีบน้ำนมออกมา โดยกระบวนการนี้ขึ้นอยู่กับแรงในการดูด หรือบีบน้ำนมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับประสาทการรับรู้ทั้ง 5 ของแม่ จะเห็นได้ว่า หากแม่ได้กอดลูก มีความรัก ความอบอุ่น ความผูกพันกับลูก ก็จะผลิตน้ำนมได้ดี แต่ถ้าคุณแม่มีภาวะเครียด พักผ่อนน้อย เจ็บป่วย ซึมเศร้า ฮอร์โมนก็จะมีปริมาณลดลง ส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำนมลดลงเช่นเดียวกัน

จากกลไกทางธรรมชาตินี้เอง สามารถสรุปได้ว่า ปริมาณน้ำนม มีความสัมพันธ์กับ ปริมาณฮอร์โมน ทั้ง 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนโปรแลคติน และ ฮอร์โมนออกซิโทซิน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่คุณแม่ให้นมือใหม่ควรทำตั้งแต่วินาทีแรกคลอด และทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันจนกระทั่งถึงวันที่ตัดสินใจหยุดให้นมลูก มีด้วยกัน 3 ข้อ ดังนี้

แม่ให้นมลูกด้วยท่านอน
  1. ให้ลูกดูดนมเร็วที่สุด ทารกแรกเกิดควรได้เข้าเต้าดูดนมแม่ ภายใน 1 ชั่วโมง หลังคลอด
  2. ให้ลูกดูดนมบ่อยที่สุด ทารกควรเข้าเต้าดูดนมแม่วันละประมาณ 8 – 12 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนโปรแลคติน ส่งผลให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมอย่างต่อเนื่อง
  3. ให้ลูกดูดถูกวิธี และดูดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ ท่าให้นมลูก และวิธีการเตรียมเต้านมให้พร้อมก่อนลูกเข้าเต้า รวมทั้งเรียนรู้เทคนิคในการดูแลให้ลูกดูดนมอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าง ให้ลูกอ้าปากให้กว้าง งับให้ถึงลานนม รวมถึงให้ลูกเข้าเต้าเป็นเวลา ก็จะช่วยลดปัญหาเต้านมคัด และเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำนมได้เป็นอย่างดี

นวดเต้านม เทคนิคง่าย ๆ ช่วยแก้ปัญหานมคัด ท่อน้ำนมอุดตัน เต้านมอักเสบ 

หลักในการนวดกระตุ้นน้ำนม เป็นการยึดหลักการกระตุ้นการไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณใต้รักแร้ และกระตุ้นการระบายน้ำนมให้เกลี้ยงเต้า ซึ่งเป็นวิธีง่าย ๆ ที่คุณแม่สามารถทำเองได้อย่างปลอดภัย

แม่มือใหม่ต้องรู้ 3 ขั้นตอน นวดเต้านมง่าย ๆ ช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น

  1. ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมก่อนให้ลูกเข้าเต้า ปั๊มนม หรือบีบนมด้วยมือ อย่างน้อย 3 – 5 นาที
  2. ใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว คลึงเบา ๆ ที่เต้านม โดยคลึงเป็นวงกลมจากฐานเต้านมไปจนก่อนถึงลานนม การนวดคลึงเบา ๆ นี้ จะช่วยให้น้ำนมไหลดี ลดปัญหาท่อน้ำนมอุดตันได้
  3. สำหรับคุณแม่ที่น้ำนมเยอะอยู่แล้ว แต่อาจมีปัญหาคัดตึงเต้านม การประคบเต้าด้วยผ้าอุ่น ๆ และนวดคลึงเต้าเบา ๆ ก่อนบีบน้ำนมออก จะช่วยให้น้ำนมไหลกระจายดี และลดปัญหาคัดเต้านมได้

วิธีนวดกระตุ้นน้ำนม เพิ่มน้ำนมแม่ได้ใน 6 ขั้นตอน

คุณแม่ล้างมือ

ก่อนนวดเต้านม คุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลให้เรียบร้อย แล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้าอย่างน้อย 1 – 3 นาที หลังจากนั้นจะเป็นการนวดคลึงเต้านมเพื่อกระตุ้นน้ำนมตามท่าต่าง ๆ ดังนี้

  1. ท่าผีเสื้อขยับปีก (Butterfly stroke) วางมือทั้งสองข้างบนเต้านมโดยให้นิ้วโป้งวางอยู่ที่เต้านมด้านบน และนิ้วทั้ง 4 เรียงชิดกันวางอยู่ที่ฐานนมด้านล่าง จากนั้นให้เริ่มนวดเต้านมจากด้านในสู่ด้านนอก ในลักษณะหมุนวนต่อเนื่องกันเบา ๆ
  1. ท่าหมุนวนปลายนิ้ว (Fingertip Circles) ใช้อุ้งมือข้างหนึ่งประคองเต้านมบริเวณฐานนมด้านล่าง และใช้นิ้วทั้ง 4 ของมืออีกข้าง วางเหนือลานนมและนวดหมุนวนไปเรื่อย ๆ
  1. ท่าประกายเพชร (Diamond Stroke) วางฝ่ามือทั้งสองข้างลงบนเต้านม โดยให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบนเต้านม และนิ้วทั้ง 4 วางทาบลงที่ฐานนมด้านล่าง จากนั้นบีบมือทั้งสองข้างไล่เข้าหากันเบา ๆ จากฐานนมมายังลานนม
  1. ท่ากระตุ้นท่อน้ำนม (Acupressure Point I) ยกแขนข้างหนึ่งขึ้นวางที่หลังท้ายทอย จากนั้นใช้นิ้วชี้อีกข้างหนึ่งวางเหนือลานนมประมาณ 2 เซนติเมตร แล้วกดนิ้วชี้ลงเบา ๆ และหมุนวนช้า ๆ รอบลานนมในตำแหน่งเดียวกัน
  1. ท่าเปิดท่อน้ำนม (Acupressure Point II) ใช้นิ้วทั้งสามวางทาบลงบนเต้านมเหนือลานนมและใช้สามนิ้วของมืออีกข้าง วางทาบลงเหนือนิ้วในตำแหน่งแรก ก็จะได้ตำแหน่งการวางนิ้วเพื่อนวดเต้านมที่ถูกต้อง จากนั้นให้ยกแขนข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการนวดขึ้นวางที่ท้ายทอย และเริ่มนวดวนช้า ๆ ในตำแหน่งนั้นซ้ำกัน 5 ครั้ง แล้วเปลี่ยนไปทำแบบเดียวกันกับเต้านมอีกข้าง
  1. ท่าบีบน้ำนม (Final Steps) เป็นท่าสุดท้ายที่ประกอบด้วย 4 ท่าย่อย ที่จะช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น โดยทุกขั้นตอนนิ้วมือของคุณแม่ต้องสัมผัสบริเวณหัวนมทั้งสิ้น
  • ท่าที่ 1 ใช้อุ้งมือประคองเต้านม แล้วใช้นิ้วชี้อีกข้างกดและหมุนวนไปรอบลานนม
  • ท่าที่ 2 วางนิ้วมือข้างที่ถนัดลงบนเต้านม โดยให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบน และนิ้วชี้อยู่ด้านล่าง จากนั้นรูดนิ้วเข้าหากันจนถึงหัวนมอย่างนุ่มนวล
  • ท่าที่ 3 ใช้นิ้วชี้ทั้งสองข้าง วางลงเป็นแนวตั้งขนาบกับลานนม จากนั้นกดนิ้วลากเข้าหากันในลักษณะหนีบและคลายออกเมื่อถึงบริเวณหัวนม
  • ท่าที่ 4 ใช้มือขวาจับที่เต้าด้านซ้าย โดยวางนิ้วเป็นรูปตัว C แล้วกดนิ้วทั้งหมดลากเข้าหาหัวนมในลักษณะบีบและคลาย เพื่อเป็นการบีบน้ำนม
คุณแม่นั่งให้นมลูกบนเตียง

เมื่อคุณแม่กระตุ้นน้ำนมทุกวัน ทำสม่ำเสมอ ร่วมกับให้ลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี ร่างกายของคุณแม่ก็จะผลิตน้ำนมในปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของลูกรัก และยังมากจนสามารถทำสต็อกเก็บไว้กินได้นานเท่าที่ต้องการ 

แต่ทางตรงกันข้าม หากคุณแม่ปฏิบัติตามคำแนะนำทุกขั้นตอนแล้ว แต่น้ำนมยังคงไหลน้อย น้ำนมหดหาย หรือมีอาการคัดเต้ารุนแรง จนมีแนวโน้มลุกลามเป็นอาการเต้านมอักเสบได้ คุณแม่ควรขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ทันที 

บทความที่คุณอาจสนใจ

อาหารในนมแม่ และประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เมนูกระตุ้นน้ำนม ที่คุณแม่หลังคลอด ไม่ควรพลาด

วิธีแก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน ของคุณแม่ช่วงให้นม

Ref. 1, 2, 3, 4, 5, 6