แม้จะผ่านช่วงเวลา 9 เดือนแห่งการตั้งครรภ์มาแล้ว แต่คุณแม่นั้นก็ยังคงต้องดูแล และสังเกตอาการต่าง ๆ ของร่างกายของตัวเองด้วยความใส่ใจอย่างต่อเนื่อง เพราะความเปลี่ยนแปลงทางกายและใจหลังคลอดบุตรนั้น ย่อมทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ภาวะหลังคลอดบุตร ซึ่งมีทั้งอาการที่พบเจอได้ปกติ ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร และอาการผิดปกติหลังคลอดหลายอย่างที่คุณแม่ควรทราบ เพื่อรับมือ และรีบเดินทางไปพบแพทย์ให้ทันท่วงที
โดยปกติช่วงเวลาหลังคลอดบุตรประมาณ 6 สัปดาห์ ร่างกายของคุณแม่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับสภาพร่างกายจากช่วงเวลาตั้งครรภ์ เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งในเวลานั้น ร่างกาย และจิตใจของคุณแม่จะเกิด ภาวะหลังคลอด ได้หลากหลายอย่าง ได้แก่
(เลือก 1 รูป)
- มีน้ำคาวปลา อาการคือ มีของเหลวที่เกิดจากการหลุดลอกตัวของรก กลายเป็น เนื้อเยื่อ และเลือดที่ไหลออกมาจากโพรงมดลูกหลังการคลอดบุตร โดยระยะเวลาการมีน้ำคาวปลานั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยปกติแล้ว มักจะอยู่ที่ 3 สัปดาห์โดยประมาณ และในช่วง 3-4 วันแรกหลังการคลอด มักจะมีน้ำคาวปลาเยอะมาก และมีสีแดงสด ซึ่งคุณแม่ควรใส่ผ้าอนามัยไว้ตลอด และเปลี่ยนผ้าอนามัยให้บ่อยครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี
- ผมร่วงหลังคลอด เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายของคุณแม่ ที่ลดลงจากครั้งที่ยังตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นภาวะปกติ และอาการผมร่วงจะหายไปได้เองภายในเวลา 6-12 เดือน เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายของคุณแม่กลับสู่ระดับปกติ ในระหว่างนี้ ไม่ควรหวีผมบ่อย และรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ เพื่อเสริมสุขภาพเส้นผมให้แข็งแรง
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะเล็ด อาจเกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานของคุณแม่ที่ยืดออก และเกิดได้บ่อยกับคุณแม่ที่ใช้เวลาในการคลอดบุตรนานกว่าปกติ ทำให้เวลาไอ จาม หรือหัวเราะ อาจมีปัสสาวะเล็ดออกมาได้ ซึ่งภาวะนี้สามารถหายกลับมาเป็นปกติได้ในเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ โดยคุณแม่ควรหมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอย่างสม่ำเสมอ และควรใส่ผ้าอนามัยในช่วงหลังคลอดอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์
- ผิวแตกลาย เป็นปัญหาที่มีโอกาสเกิดกับคุณแม่หลังคลอดสูงถึงประมาณ 90% ปัญหานี้เกิดจากการขยายตัวของผิวหนังอย่างรวดเร็วในช่วงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้หลังจากคลอดบุตรออกมาแล้วเกิดเป็นริ้วรอยสีชมพู หรือสีแดง ซึ่งจะค่อย ๆ จางหายไปตามเวลา และสามารถบรรเทาให้ดีขึ้นได้ด้วยการทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำ
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตร หรือ Baby Blue เป็นภาวะทางจิตใจหลังคลอด ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งในขณะตั้งครรภ์นั้นจะมีระดับของฮอร์โมนดังกล่าวที่สูงมาก จากหลังจากการคลอดบุตรนั้น ระดับของฮอร์โมนทั้งสองจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จนอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ไม่ร่าเริง มองโลกในแง่ร้าย หรือในกรณีที่มีอาการหนักอาจเกิดความคิดอยากทำร้ายตัวเองได้ ระยะเวลา และความหนักของอาการนี้จะแตกต่างกันไปในคุณแม่แต่ละคน แต่โดยปกติแล้วมักมีอาการไม่เกิน 6 สัปดาห์
นอกจากอาการปกติของภาวะหลังคลอดที่กล่าวในข้างต้นแล้ว ยังมีกลุ่มอาการอื่น ๆ ที่คุณแม่ควรสังเกต และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะอาการเหล่านั้นอาจเป็นอันตราย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา หรือรับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที โดยอาการผิดปกติของคุณแม่หลังคลอดที่ควรรีบไปพบแพทย์ มีดังนี้
- น้ำคาวปลาไม่ไหล ไม่มีน้ำคาวปลาเลย ใน 2 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร
- พบก้อนเลือดขนาดใหญ่ออกมาผ่านทางช่องคลอด
- น้ำคาวปลาส่งกลิ่นเหม็นคาวผิดปกติ
- สังเกตพบน้ำคาวปลามีสีแดงสด เป็นเวลานานกว่า 4 วันขึ้นไป
- รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย หรือรู้สึกปวดหน่วง รำคาญ ในระยะเวลา 1 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร
- มีเลือดออกจากช่องคลอดเป็นปริมาณมาก จนทำให้ผ้าอนามัยชุ่มเปียก 1 ผืน ภายในเวลา 1 ชั่วโมง
- เกิดอาการไข้ขึ้นสูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานเกิน 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันแรกหลังการคลอดบุตร
- รู้สึกเจ็บ ปวด บริเวณหน้าอก ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของลิ่มเลือดภายในบริเวณปอด
- เมื่อปัสสาวะแล้ว เกิดอาการแสบ รู้สึกติดขัดเมื่อปัสสาวะ หรือปัสสาวะบ่อยครั้ง แต่สีของปัสสาวะนั้นเข้มจนผิดปกติ
- แผลผ่าตัด เกิดอาการบวม แดง เป็นหนอง หรือมีน้ำเหลืองไหลซึมจากบริเวณบาดแผล
- รู้สึกปวด และมีอาการบวมที่บริเวณ น่อง และขา อาจเกิดจากอาการหลอดเลือดอุดตัน
- มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Baby Blue ยาวนาน โดยมีอารมณ์โกรธ หรือรุ้สึกอยากทำร้ายตัวเองร่วมด้วย
- รู้สึกเจ็บ ปวด และมีอาการบวมเกิดขึ้นที่บริเวณเต้านมบางส่วน นั่นอาจเป็นสัญญาณของเต้านมอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนม
เพื่อช่วยให้ร่างกายของคุณแม่หลังคลอดฟื้นฟู และกลับสู่สภาวะปกติได้ในเร็ววัน คุณแม่ควรพักผ่อนอย่างเต็มที่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อสังเกตพบอาการหลังคลอดที่ผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษา และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสม
บทความที่คุณอาจสนใจ
อาหารในนมแม่ และประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เมนูกระตุ้นน้ำนม ที่คุณแม่หลังคลอด ไม่ควรพลาด